สวนยางอีสานตอกรัฐ2มาตรฐานซื้อยางไม่คลุมเหตุปิดกรีดยางแล้ว

ภาพประกอบ

เมื่อวันที่ 15 มกราคม เวลา 12.00 น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายศิริชัย ห่านวิบูลย์พงศ์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจร จังหวัดบึงกาฬ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งตัวแทน ผู้นำเกษตรกรชาวสวนยางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บึงกาฬ หนองคาย นครราชสีมา มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร กำแพงเพชร ถึงมาตรการรัฐจะรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง ปริมาณ 1 แสนตัน ด้วยราคายางแผ่นดิบ 45 บาทต่อกก.ว่า มาตรการที่ออกมาซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงนั้น ไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในภาคเหนือและภาคอีสานเลย เนื่องจากมาตรการนี้มีกำหนดการรับซื้อยางจากเกษตรกรช่วงวันที่ 25 มกราคม 59 เป็นต้นไป แต่ในภาคอีสานนั้น ได้ปิดกรีดยางตั้งแต่ปลายมกราคม แล้ว ขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ยังคงกรีดยางกันอยู่จนถึงเดือนมีนาคม 59

นอกจากนี้ยังได้รับการชี้แจงจาก พล.อ.ฉัตรชัยด้วยว่า มาตรการรับซื้อยางจากเกษตรกรนั้น ได้จัดสรรโควต้ารับซื้อยางเกษตรกร โดยจะรับซื้อยางเกษตรกรครัวเรือนละ 150 กก. ซึ่งหากคิดในอัตราเข้าซื้อยางในราคา 45 บาทต่อกก.นั้น เท่ากับว่า เกษตรกรจะได้เงินทั้งหมด 6,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงแค่มาตรการน้ำจิ้ม ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้เลย

“เกษตรกรภาคอีสานและภาคเหนือไม่พอใจกับมาตรการดังกล่าวเลย ผมรู้สึกน้ำท่วมปาก จุกอก อีกทั้งยังรู้สึกรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง 2 มาตรฐานด้วย คือ ภาคใต้ได้ประโยชน์ แต่ภาคอื่นๆ ไม่ได้อะไร ภาคอีสานเองก็ปิดกรีดยางในช่วงปลายมกราคมนั้น ก็เป็นเพราะเรื่องของฤดูกาลธรรมชาติ ใบยางแห้ง กรีดยางไม่ได้ แล้วหากรัฐจะเข้ามาซื้อยางจากเกษตรกรอีสานในช่วงปิดกรีดไปแล้ว ถามว่าจะซื้อได้เท่าไร ในเมื่อไม่มียางออกแล้วช่วงนั้น นอกจากจะมีเกษตรกรกักตุนยางไว้ ดังนั้นก็คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้แล้ว” นายศิริชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image