นักวิชาการ หวั่น ‘ควบรวมทรู-ดีแทค’​ ซ้ำรอยค้าปลีก จับตารบ.เลือกอำนาจทุน หรือประชาชน

นักวิชาการ หวั่น ควบรวมทรู-ดีแทค ซ้ำรอยอุตฯค้าปลีก ลดอธิปไตยผู้บริโภค จับตา รัฐบาลเลือก คล้อยตามอำนาจทุน หรือปชช.

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ว่า การควบรวมกิจการทรูและดีแทค มีทั้งผลดีและผลเสีย โดยผลดีด้านการจัดการนั้น ช่วยให้ผู้ประกอบสามารถประหยัดต้นทุน ประหยัดบุคลากร และประหยัดเวลา สามารถพัฒนาสินค้า การบริการได้ง่าย และมีมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่ รัฐบาล จากเดิมที่ต้องกำกับดูแลหลายบริษัท การควบรวมกิจการให้มีผู้ประกอบการน้อยราย ทำให้ง่ายต่อการกำกับดูแล รวมถึงจัดเก็บภาษี

“แน่นอนว่า การทำธุรกิจ การลดต้นทุนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ผลประกอบการดีขึ้น จึงเป็นที่ปรารถนาผู้ของประกอบการ แต่ผลพวงจากการควบรวมกิจการนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือผู้บริโภค รวมหัวกันได้ง่าย กำหนดราคาขายก็ง่าย ไม่ตัดราคากันเอง ผลกำไรก็ดีตามไปด้วย ขณะเดียวกัน การควบรวมกิจการ เป็นการทำลายการแข่งขันแบบเบ็ดเสร็จ เป็นการลดการแข่งขัน เสี่ยงเกิด Cartels หรือการที่กลุ่มบริษัทตกลงราคาขายร่วมกัน เพื่อไม่ให้มีการแข่งขันกัน หรือการฮั้ว ซึ่งในบ้านเราพบมากในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจน้ำมัน ที่ราคาปลีกเท่ากันหมดทุกปั๊ม แตกต่างกันที่ของของสมนาคุณ เช่นเดียวกับธุรกิจปูซีเมนต์ และธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ขณะที่ ผลเสียตกอยู่ที่ผู้บริโภค เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด เป็นการจำกัดทางเลือก ในอนาคตผู้บริโภคเสี่ยงที่จะถูกเอาเปรียบ เพราะรัฐบาลไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง เห็นได้ชัดจากการอนุมัติการควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมค้าปลีก หรืออุตสาหกรรมอื่นที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีนโยบายที่คล้อยตามอำนาจทุน มากกว่าคล้อยตามอำนาจของประชาชน

“การที่แต่ละอุตสาหกรรมมีผู้ประกอบการหลายราย ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือก หากไม่พอใจการบริการ หรือคุณภาพของผู้ประกอบการรายใด ก็เปลี่ยนไปใช้บริการของอีกรายหนึ่งได้ ทำให้​เกิดการต่อรองราคา ส่งเสริมอำนาจอธิปไตยของผู้บริโภคให้สูงขึ้น แต่เมื่อใดที่ผู้ประกอบการลดลง จะทำให้อำนาจหรืออธิปไตยของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือก ดังนั้น รัฐบาลต้องเลือกระหว่างความง่ายในการบริหารจัดการ กับการยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่ง​หากรัฐบาล​ยึดประโยชน์ประชาชน ไม่ควรส่งเสริมให้เกิดการควบรวมกิจการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนอุตสาหกรรมค้าปลีกที่ผ่านมา” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว

Advertisement

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด กลุ่มนักวิชาการ ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการดำเนินการควบรวมกิจการ ซึ่งผู้ยื่นขอควบรวมกิจการปักธงเป้าหมายที่ชัดเจนไว้แล้วว่า ต้องควบรวมกิจการนี้ให้ได้ ดังนั้น ระหว่างทางหากมีปัญหาอุปสรรคใดที่ทำให้การควบรวมต้องสะดุด ก็วางแผนพร้อมที่จะรับมือไว้แล้วเช่นกัน

“เชื่อว่า ผู้ประกอบการทั้งสองรายจะสามารถควบรวมกิจการ เกิดเป็นรูปเป็นร่างได้แน่นอน เพราะหากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ทั้งพรรคการเมือง ข้าราชการ ค่อนข้างที่จะได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการนี้ แต่ไม่ใช่ประชาชน อีกทั้ง การที่ในตลาดเหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย เป็นหลักทุนนิยมแบบผูกขาด และการผูกขาดนี้ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ ทำลายผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ การดำเนินการดังกล่าว​ จึงเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่อ่อนแออยู่ในภาวะสังคมปัจจุบัน” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image