โฟกัสกรุ๊ป ควบรวมทรู-ดีแทค เดือด! นักวิชาการ ฉะ ทำเงินเฟ้อพุ่ง-จีดีพีหด-ค่าบริการแพง

โฟกัสกรุ๊ป ควบรวมทรู-ดีแทค เดือด! นักวิชาการ ฉะ ทำเงินเฟ้อพุ่ง-จีดีพีหด-ค่าบริการแพง

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัสกรุ๊ป) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การรับฟังความเห็นครั้งนี้ เป็นส่วนผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ประกอบด้วย นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ด้านเศรษฐศาสตร์ ทั่วประเทศไทย เข้าร่วมรับฟัง และเสนอข้อคิดเห็น เพื่อประกอบการพิจารณา และเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการต่อไป

สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ ประเมินโดยใช้ Upward Pricing Pressure Model (UPP) และ Merger simulation Model ซึ่งเป็นโมเดล การวิเคราะห์ผลกระทบการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา และวิเคราะห์โดยใช้โมเดล Computable General Equilibrium (CGE Model) หรือแบบจำลองดุลยภาพ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านราคาต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

Advertisement

ทั้งนี้ ปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์ ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.โครงสร้างการแข่งขันและผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ แบ่งเป็น 2 ด้าน 1.ด้านโครงสร้าง ซึ่งพิจารณาจากกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มค้าส่งบริการ และกลุ่มค้าปลีกบริการ และด้านพฤติกรรม พิจารณาจากผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ ในกรณีไม่มีการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ พิจารณาจากกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ รวมถึงพิจารณาจากพฤติกรรมและผลกระทบด้านต่างๆ อาทิ ราคา ส่วนผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ในกรณีมีการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ จะพิจารณาจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังควบรวมส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

และ 2.ความมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นหลังการควบรวม ความเป็นไปได้ หรือประโยชน์จากการลดต้นทุนส่วนเพิ่มที่จะส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภค กรณีมีการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ และผลกระทบจากการลดต้นทุนส่วนเพิ่มที่มีต่อการแข่งขันในตลาด

“อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กสทช.มีการตั้งที่ปรึกษาจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาข้อมูลรอบด้าน โดยได้รวบรวมข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการไปแล้ว หลังจากปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ได้นำมาเสนอต่อเวทีรับฟังความคิดเห็นนี้ด้วย” นายศุภัชกล่าว

Advertisement

นายศุภัชกล่าวว่า เมื่อสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ สำนักงาน กสทช. จะรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั้ง 3 ครั้ง เสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณารับทราบ ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ โดยกรอบการดำเนินงานต้องได้ผลสรุปภายในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้

  • ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ทำค่าบริการพุ่ง

นายประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ รักษาการผู้อำนวยการสำนัก สำนักการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม กล่าวสรุปผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทค ว่า ใช้วิธี Merger Simulations และ Upward Pricing Pressure Model (UPP) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้อย่างแพร่หลาย ในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อวิเคราะห์การควบรวมกิจการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า โมเดลการใช้งานว๊อยซ์และดาต้า บ่งบอกถึงอัตราการเพิ่มที่น้อยกว่า โมเดลการใช้เสียงเพียงอย่างเดียว ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจมีทิศทางเดียวกัน ซึ่งผลกระทบเรื่องอัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โดยอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นน้อยสุด เมื่อไม่เกิดการร่วมมือกัน อัตราค่าบริการจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2.03-19.53% กรณีเกิดการร่วมมือในระดับต่ำ (ควบรวมแบบมีเงื่อนไข) อัตราค่าบริการจะเพิ่มขึ้นในช่วง 12.57-39.81% และกรณีร่วมมือกันในระดับสูง (เกิดการควบรวม) อัตราค่าบริการจะเพิ่มขึ้นในช่วง 49.30-244.50%

นายประถมพงศ์กล่าวว่า หากการเปลี่ยนแปลงตามผลการศึกษาของ กสทช. จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างอย่างไรนั้น เมื่อตลาดเกิดการกระจุกตัวมากขึ้น ผลของราคาจะเพิ่มขึ้น หากวิเคราะห์โมเดลว๊อยซ์และดาต้า ถ้าไม่เกิดความร่วมมือ หรือเกิดความร่วมมือต่ำราคาจะเพิ่มขึ้น 18.85% หากความร่วมมือในระดับสูงราคาจะเพิ่มขึ้น 60% หากเป็นโมเดลด้านดาต้าอย่างเดียว หากไม่มีและมีความร่วมมือต่ำ ราคาเพิ่มขึ้น 32.64% และหากมีความร่วมมือระดับสูงราคาเพิ่มขึ้น 198.28%

อย่างไรก็ตาม ในวงโฟกัสกรุ๊ป มีการนำเสนอให้ทำผลการศึกษาโมเดลการใช้งานด้านดาต้าเพียงอย่างเดียวด้วย คาดว่าจะสามารถทำเพิ่มขึ้นมาได้ โดยปกติจะใช้เวลาในการทำโมเดลประมาณ 2 อาทิตย์ ส่วนการเสนอแนะให้นำข้อมูลของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที มารวมเพื่อทำการวิเคราะห์ด้วย ซึ่งจากข้อมูล เอ็นที มีส่วนแบ่งในตลาดเพียง 2% จึงไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของผลการวิเคราะห์ครั้งนี้ ส่วนเรื่องแพลตฟอร์มต่างประเทศ (โอทีที) ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ เพราะเป็นข้อมูลคนละพื้นฐานกัน

  • เงินเฟ้อกระฉูด-จีดีพีหด

นายพรเทพ เบญญาอภิกุล คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ กรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจตามโมเดล Computable General Equilibrium (CGE Model) หรือแบบจำลองดุลยภาพ เป็นโมเดลเศรษฐศาสตร์ใช้วิเคราะห์ผลกระทบด้านราคาต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งผลกระทบที่บ่งชี้ในการวิเคราะห์ในเรื่องของอัตราการขยายตัวของจีดีพี จากข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์คำนวนมูลค่าจากการใช้จีดีพีประเทศไทย 3.1 ล้านล้านบาท ปี 2564

โดยกรณีไม่เกิดการร่วมมือกัน จีดีพีจะหดตัวลดลงในช่วง 0.05-0.11% คิดเป็นมูลค่า 8,244-18,055 ล้านบาท กรณีเกิดการร่วมมือในระดับต่ำ (ควบรวมแบบมีเงื่อนไข) จีดีพี จะหดตัวลดลงในช่วง 0.17-0.33% คิดเป็นมูลค่า 27,148-53,147 ล้านบาท และกรณีร่วมมือกันในระดับสูง (เกิดการควบรวม) จีดีพี จะหดตัวลดลงในช่วง 0.58-1.99% คิดเป็นมูลค่า 94,427-322,892 ล้านบาท

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยกรณีไม่เกิดการร่วมมือกัน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.05-0.12% กรณีเกิดการร่วมมือในระดับต่ำ (ควบรวมแบบมีเงื่อนไข) อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.17-0.34% และกรณีร่วมมือกันในระดับสูง (เกิดการควบรวม) อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.60-2.07% ซึ่งระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นขึ้นอยู่กับระดับความร่วมมือของผู้ประกอบการหลังควบรวมเป็นอย่างมา ซึ่งการควบรวมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่กำหนดตามภายหลังการควบรวม ซึ่งการวิจัยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการต่อไป ย้ำว่าการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรวบรวมข้อมูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image