ศูนย์วิจัยกสิกรเตือนปรับตัว รับวิกฤตอาหารแพงถึงกลางปี 66

อาหารดิลิเวอรี ในทรรศนะพยาบาล : โดย ผช.ศ.ดร.ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล

ศูนย์วิจัยกสิกรเตือนปรับตัว รับวิกฤตอาหารแพงถึงกลางปี 66

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยในงานแถลงข่าว หัวข้อ ทิศทางเศรษฐกิจไทย ฟื้นฝ่าเงินเฟ้อ? ว่า วิกฤตความมั่นคงทางอาหารที่อาจเข้ามาทำให้เกิดเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ดันราคาอาหารไทยเร่งตัวสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี โดย 5 เดือนแรกปี 2565 ดัชนีราคาอาหารโลกปรับขึ้นเฉลี่ย 25% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 28% ในปี 2564 จากปัจจัยรอบด้าน อาทิ ปัญหาการระบาดของโควิดหลายระลอกกระทบการผลิต ความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังโควิดเริ่มทยอยคลี่คลาย ภัยธรรมชาติในหลายประเทศผู้ผลิตอาหาร เช่น น้ำท่วมใหญ่ในบราซิล เป็นต้น สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ มาตรการจำกัดการส่งออกอาหารและปุ๋ยจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งมีผลต่อราคานำเข้าวัตถุดิบ

ปัจจุบัน ไทยมีความเสี่ยงต่อภาวะความตึงตัวของผลผลิตอาหาร แต่ไม่ใช่วิกฤตด้านอาหารดังที่ปรากฏขึ้นในหลายประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารไทยเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้นซึ่งอาจกระทบผลผลิต ประกอบกับความต้องการและราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้น หนุนการส่งออกในบางรายการ ดังนั้น ราคาอาหารไทยอาจปรับขึ้นในครึ่งหลังปีนี้และมีแนวโน้มยืนสูงต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปีหน้า โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ข้าว และเนื้อหมู ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบยังมีโจทย์ในด้านการบริหารจัดการต้นทุน เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลฐานะรายรับรายจ่ายและใช้สอยอย่างรอบคอบต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image