นักวิชาการ ชี้ ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ สู่เทคคอมปานี แค่ขายฝัน หวั่น กสทช. เซ็นเช็คเปล่า

นักวิชาการ ชี้ ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ สู่เทคคอมปานี แค่ขายฝัน หวั่น ‘กสทช.’ เซ็นเช็คเปล่า นวัตกรรมไม่เกิดจริง

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯด้านคุ้มครองผู้บริโภค และด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาวิชาการ Consumers Forum EP.3 หัวข้อชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่ ว่า คณะอนุกรรมการฯด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ศึกษา โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ และตั้งสมมติฐานทั้งเรื่องประสิทธิภาพ และต้นทุน จะลดลงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร หลังการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งแนวโน้มความร่วมมือของผู้ประกอบการที่ลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย อาจเกิดการแข่งขัน หรือร่วมมือกันจนกลายเป็นการผูกขาดได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่า หลังการควบรวมกิจการ ราคาค่าบริการจะสูงขึ้นราว 5-200% ซึ่งกรณีที่น่าสนใจและมองว่าจะเป็นไปได้ จะอยู่ที่ประมาณ 20-30% ขึ้นอยู่กับข้อมูลและสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์อีกแบบหนึ่ง เพื่อพิจารณาในภาพรวม และหาการเปลี่ยนแปลงด้านของราคาในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นปัจจัยการผลิตในทุกๆ อุตสาหกรรม พบว่า ราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งทุกๆ 10% ของราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น จะทำให้จีดีพีลดลง 16,000 ล้านบาท

และหากอ้างอิงข้อมูลจาก 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่ระบุว่า หลังควบรวมกิจการ ราคาค่าบริการอาจเพิ่มขึ้นถึง 120% พบว่าจีดีพีจะลดลงกว่าแสนล้านบาท หรือสรุปได้ว่า จีดีพีจะลดลงราว 10,000-300,000 ล้านบาท แต่หากเชื่อว่า หลังควบรวมกิจการจะเกิดการแข่งขันแบบปานกลาง จีดีพีจะลดลงอยู่ที่ 30,000-50,000 ล้านบาท

ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ขอควบรวมมักบอกว่า ราคาค่าบริการเป็นสิ่งที่ กสทช.กำกับดูแลอยู่แล้ว และเขาเองก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งถูกส่วนหนึ่ง เพราะด้วยค่าบริการในปัจจุบันต่ำกว่าเพดานที่ กสทช.กำหนดอยู่ 20% จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นราคาได้อีก ขณะที่ การกำกับดูแลค่าบริการของ กสทช.ปัจจุบัน ก็ยังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากแต่ละเดือนผู้ประกอบการจะส่งแพคเกจและค่าบริการเพื่อให้ กสทช. พิจารณา

Advertisement

ซึ่งราคาแพคเกจ ไม่ใช่ราคาที่ตรงไปตรงมา เพราะลูกค้าแต่ละคนใช้แพคเกจไม่เท่ากัน ฉะนั้น ราคาที่ใช้จึงต้องเป็นราคาเฉลี่ย แต่ราคาที่ กสทช.ได้รับ เป็นราคาตามแพคเกจที่นำราคาแพคเกจตามที่ผู้บริการเสนอมาหาร ไม่ได้ถ่วงน้ำหนักจำนวนคนใช้ ดังนั้น จึงเป็นเกมที่ผู้ประกอบการรู้อยู่แล้ว ว่าส่งราคาแพคเกจทั้งหมดให้ กสทช. เมื่อ กสทช. คำนวณออกมาแล้ว ค่าบริการจะอยู่ที่เท่าไร ดังนั้น ค่าบริการที่ กสทช. ใช้จึงถูกกำหนดโดยผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกัน ผู้ขอควบรวมกิจการมักอ้างว่า การควบรวมกิจการเพื่อให้บริการได้ครอบคลุม และโครงข่ายจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่คำถามคือ โครงข่ายที่ครอบคลุมมากขึ้น หากไม่ควบรวมจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ คำตอบคือเกิดขึ้นได้ เพราะ กสทช.กำหนดมาตรการให้สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันได้อยู่แล้ว แต่หากผู้ประกอบการเห็นว่า มาตรการดังกล่าวไม่รองรับ สามารถขอให้ กสทช.ปรับปรุงมาตรการนั้นได้

ดังนั้น ส่วนนี้ จึงไม่ใช่ประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการ แต่ตรงกันข้าม หากควบรวมกิจการแล้ว จะส่งผลให้การบริการไม่ครอบคลุมเพิ่มขึ้น เพราะพื้นที่ในประเทศไทย แบ่งเกรดเป็น A, B และ C ตามพื้นที่ทำกำไรสูง ปัจจุบันผู้ประกอบการ 3 รายมีการแข่งขันกันเข้มข้น พื้นที่เกรด C หรือพื้นที่ห่างไกล จึงยังแข่งขันอยู่ จำเป็นขยายการบริการไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการ แต่หลังควบรวมกิจการ ส่งผลให้แรงจูงใจนี้หายไป พื้นที่ห่างไกลอาจจะไม่ได้รับ การขยายโครงข่ายไปได้ถึงเพิ่มขึ้น

Advertisement
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ผู้ขอควบรวมยังอ้างอีกว่า การควบรวมจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หรือหาคำที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เพื่อเป็นเหตุผลของการขับเคลื่อนไปสู่เทคคอมปานี ซึ่งคำถามคือ สิ่งเหล่านี้ต้องควบรวมเท่านั้นหรือจึงจะทำได้ เพราะข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ต้องควบรวมก็สามารถทำได้
อีกทั้ง กิจการโทรคมนาคม อยู่คนละชั้นธุรกิจหรือคนละระดับกับธุรกิจเทคคอมปานี เพราะเทคคอมปานี เป็นธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ แต่กิจการโทรคมนาคมของทรูและดีแทคในปัจจุบัน เป็นธุรกิจต้นน้ำ” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าว
ส่วนกรณีการควบรวมกิจการของต่างประเทศ ผู้ขอควบรวมจะต้องประเมินผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง นวัตกรรมที่พูดถึงคืออะไร ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นจะช่วยประหยัดได้กี่เปอร์เซ็นต์ รวมถึงสามารถลดต้นทุนไปได้เท่าไร เป็นต้น ซึ่งเคยถามในคณะอนุกรรมการฯด้านคุ้มครองผู้บริโภค ว่า
สิ่งที่ผู้ขอควบรวมอ้างว่าจะเกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง กลับได้คำตอบว่า ขึ้นอยู่กับบอร์ดใหม่ของบริษัทที่เกิดขึ้นจากการควบรวม ขณะนี้ยังไม่ควบรวมจึงไม่สามารถบอกได้ ดังนั้น ที่กล่าวอ้างนี้ เป็นคำพูดที่ไม่ได้มีความหมาย เหมือนจะให้ กสทช.เซ็นเช็กเปล่า ด้วยความเชื่อที่ว่า จะทำให้เกิดนวัตกรรมอะไรสักอย่าง ทั้งนี้ไม่มีแผนที่ชัดเจน

ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวว่า นอกจากนี้ การควบรวมกิจการ ยังเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภคอย่างชัดเจน เพราะจากผู้ให้บริการ 3 ราย เหลือ 2 ราย ผู้ขอควบรวมก็จะอ้างอีกว่า ไม่เป็นการจำกัดทางเลือก เพราะทุกคนยังสามารถใช้แพคเกจเดิมได้ แต่หลังจากนั้น ไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ และธุรกิจของทรูและดีแทค ในอนาคต ก็อาจไม่ได้อยู่เหมือนเดิม

อีกเรื่องที่น่าเป็นกังวลคือ การเข้าสู่ตลาดขอผู้ให้บริการรายใหม่ทำได้ยากขึ้น เพราะคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีการจัดสรรออกไปมากพอสมควรแล้ว ปัญหาคือ การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ยังไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่ MVNO ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้เพื่อเพิ่มการแข่งขัน ยังไม่มีผู้ให้บริการเลย ปัจจุบันมีเพียง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที เท่านั้น แล้วจะคาดหวังได้อย่างไรว่าจะเกิดขึ้น

“ผู้ขอควบรวมบอกว่า การควบรวมกิจการ ทุกคนจะดีขึ้น ไม่มีใครแย่ลง บริษัทได้กำไรมากขึ้น เพราะอ้างว่าทุกวันนี้การแข่งขันเข้มข้น ต้องควบรวมเพื่อเข้มแข็งมากขึ้น คำถามคือ ไม่ควบรวมและแข่งขันเยอะ จึงอยากควบรวม เพื่อที่จะต้องไม่แข่งขันหรือ ผู้บริโภคจะดีขึ้น บริษัทจะกำไรมากขึ้น เค้กต้องก้อนใหญ่ขึ้น

เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะดึงมาจากผู้บริโภค แต่การที่เค้กจะก้อนใหญ่ขึ้น มาจากอะไร ประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้นก็ยังไม่ชัดเจน ต้นทุนที่ว่าลดลง นวัตกรรมอะไรก็ยังไม่เกิด ตลาดก็ยังไม่ได้ขยาย เพราะตอนนี้ตลาดก็ค่อนข้างอิ่มตัว ข้อสรุปที่ได้ตอนนี้คือ ถ้าบริษัทเขาดีขึ้นได้ ต้องควักมาจากผู้บริโภค เค้กอาจจะขยายได้ แต่จะต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าคืออะไร ไม่ใช่แค่พูดออกมาเฉยๆ” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image