นักวิชาการ ขำก๊าก ‘กสทช.’ ยกเคสทรู-ดีแทค เทียบตปท. ผูกขาด แต่บอกค่าโทรไม่เพิ่ม

นักวิชาการ ขำก๊าก ‘กสทช.’ ยกเคสทรู-ดีแทค เทียบ ตปท.ผูกขาด แต่บอกค่าโทรไม่เพิ่ม ศาลชี้ กสทช.มีอำนาจ สวนอนุกรรมการฯกฎหมาย ว่าไม่มี

กรณีที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม มีความเห็นร่วมกัน ว่าข้อมูลผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ จำนวน 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย 2.คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง 3.คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี และ 4.คณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์, การจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด 3 กลุ่ม, รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์กรณีการรวมธุรกิจฯ โดยสำนักงาน กสทช. รวมถึงร่างผลการศึกษาของที่ปรึกษาวิเคราะห์การรวมธุรกิจฯ โดยศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรายงานของที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจฯ โดย บริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด ยังไม่ครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอ

โดยยังขาดข้อมูลสำคัญในหลายประเด็น เพื่อประกอบการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ และเพื่อนำไปสู่มาตรการในการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการป้องกันผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตลาดและอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ จึงมีมติให้ทางสำนักงาน กสทช.ไปทำการวิเคราะห์ที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติม และให้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานที่มอบหมายต่อ กสทช.โดยเร็ว

ในประเด็นต่อไปนี้

  • วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยให้รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม
  • วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม
  • วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน
  • วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร
  • วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
  • วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:  บอร์ด กสทช.ขอประเมินผลกระทบและแนวทางป้องกันผูกขาด ปมควบรวมทรู-ดีแทค ก่อนเคาะขั้นสุดท้าย

Advertisement
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ล่าสุด ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯด้านคุ้มครองผู้บริโภค และด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่ง กสทช.จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Pornthep Benyaapikul ระบุว่า

ชำแหละ “งานวิชากลวง” เอ้ย! “งานวิชากาว” เอ้ย! “งานวิชาการ” บทความสำคัญโดย the.101

1.รายงานที่สำนักงาน กสทช.เสนอ กรรมการวิสามัญพิจารณาผลกระทบการควบรวม ของสภา

—> อ้างงานศึกษาต่างประเทศ เลือกใช้กรณีศึกษาของประเทศที่มีผลกระทบตามที่ตนอยากเสนอ ไม่พูดถึงประเทศที่ราคาเพิ่มหลังควบรวม ทั้งๆ ที่อยู่ในงานเดียวกัน บางประเทศอ้างผลไปทิศทางตรงกันข้ามกับงานศึกษาต้นฉบับอีก

Advertisement

—> ผมอยู่ในกรรมการวิสามัญสภาชุดนี้ ตลอดเวลาที่ตัวแทนสำนักงานมาชี้แจงจะยืนยันเสมอว่า กสทช.ไม่มีอำนาจห้ามการควบรวม โดยไม่เคยพูดถึง หรือนำเสนอ ข้อ 9 ของประกาศ กสทช. ปี 2561 เลย

2.รายงานที่ปรึกษาอิสระฟินันซ่า

—> ก่อนควบรวม มี 3 รายหลักถือว่าเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย หลังควบรวม เหลือ 2 รายหลัก ก็ถือเป็นตลาดผู้ขายน้อยเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นราคาไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง (อันนี้จริงหรือเอาฮา?!?)

—> อ้างทฤษฎี Bertrand Oligopoly แบบ basic แล้วพาลไปสรุปว่าราคาไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมทั่วไปรู้อยู่แล้วว่า ทฤษฎีโดยแกนไม่สามารถนำไปใช้ได้เลย ต้องปรับสมมุติฐานเพิ่มเติม เช่น สินค้ามีความแตกต่าง ผู้ขายอยู่ในตลาดด้วยกันระยะยาว ผลก็จะออกมาว่าราคามันสูงขึ้นเมื่อตลาดกระจุกตัว

3.งานศึกษาของจุฬา (กรอบงบประมาณ 10 ล้าน)

—> งานศึกษาขนมชั้น แบบเวลาสั่งรายงานให้ น.ศ.ทำ แล้วก็ไปทำๆ มาเย็บเล่มส่ง ไม่มีการเชื่อมโยงจัดความสอดคล้องต่อเนื่องของเนื้อหาใดๆ งานด้านเศรษฐศาสตร์บอกการควบรวมส่งผลให้ราคาเพิ่ม แต่งานด้านกฎหมายบอก กสทช.ไม่มีอำนาจไม่อนุญาต (ทั้งๆ ที่ศาลปกครองวินิจฉัยมาแล้วว่ามีอำนาจ) โดยไม่พูดถึงข้อ 9 ของประกาศปี’61 (เหมือนรายงานของสำนักงานเลย)

FB: Pornthep Benyaapikul

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image