แฉปมฝนถล่มหนัก ‘กรุงโซล’ พิษโลกร้อน อากาศแปรปรวน พยากรณ์ยาก

แฉปมฝนถล่มหนัก ‘กรุงโซล’ พิษโลกร้อน อากาศแปรปรวน พยากรณ์ยาก

จากปริมาณน้ำฝนที่ตกในบริเวณ กรุงโซล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ณ บ่ายวันอังคารที่ 9 ส.ค. ตามเวลาท้องถิ่น นับเป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกสูงสุดของกรุงโซล ตั้งแต่ปี 2447 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าหน้าที่เริ่มบันทึกปริมาณน้ำฝน และคาดว่า กรุงโซลจะมีฝนตกหนักยาวไปถึงวันพฤหัสบดีที่ 11 ส.ค.2565

ทั้งนี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาเกาหลี รายงานว่า ประมาณฝน 381.5 มม. ได้พัดถล่มทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโซลในวันจันทร์ที่ 8 ส.ค. ซึ่งในอดีตกรุงโซล มีฝนตกสูงสุดคือ 2 ส.ค.2463 ที่ 354.7 มม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: พายุฝนถล่มกรุงโซล น้ำท่วมสูงจมรถยนต์-ทะลักลงรถไฟฟ้าใต้ดิน แจ้งอพยพประชาชน

สำหรับประเทศไทย นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับ ‘มติชนออนไลน์’ ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในกรุงโซล เกาหลีใต้ คล้ายกรณีของไทย เมื่อคืนวันที่ 20 กรกฎาคม จนถึงเช้าวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยปริมาณฝนสูงสุดทั้งเขตฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ มากถึง 165 มิลลิเมตร ขณะที่ สถิติฝนมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร ปี 2561-2562 เคยแตะหลัก 200 กว่ามิลลิเมตร

Advertisement

นางสาวชมภารี กล่าวว่า หลายประเทศทั่วเอเชียตะวันออก กำลังประสบกับปริมาณน้ำฝนรายวันที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน โดยมรสุมฤดูร้อนคาดว่าจะรุนแรงขึ้นและพยากรณ์ได้ยากขึ้น เมื่อโลกร้อนขึ้นเนื่องจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สภาวะโลกร้อน) และการที่อากาศร้อนขึ้น ทำให้มีความชื้นสะสมในสภาพบรรยากาศได้มากกว่า

“เหตุการณ์ฝนตกหนักในกรุงโซล เกาหลีใต้ เกิดจากอิทธิพลของแนวปะทะอากาศ (อากาศเย็น กับอากาศร้อน) ทำให้เกิดมีลมพัดเข้าหากัน (แนวสอบ) ปกคลุมในช่วงกลางคืน ซึ่งแนวปะทะดังกล่าวทำให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนอง ไม่เกี่ยวข้องกับพายุที่เกิดขึ้นในไทยตอนนี้แต่อย่างใด อีกทั้ง เป็นสภาวะปกติในประเทศเขตอบอุ่นมักมีแนวปะทะอากาศเกิดขึ้นได้เสมอ ขึ้นอยู่กับว่า จะเป็นแนวปะทะอากาศแบบไหน ถ้าเป็นแนวปะทะแบบมวลอากาศเย็น เคลื่อนที่ ก็จะรุนแรงเหมือนพายุได้” นางสาวชมภารี กล่าว

Advertisement

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image