‘หมอไห่’ เฉ่ง กสทช. แพร่ข่าว 5 Facts ควบรวมทรู-ดีแทค โต้ยังไม่เคยมีมติ

‘หมอไห่’ เฉ่ง กสทช. แพร่ข่าว 5 Facts ควบรวมทรู-ดีแทค โต้ยังไม่เคยมีมติ

กรณีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผย 5 Facts กรณีควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประกอบด้วย

1.ดีลนี้เป็นครั้งแรกที่มูลค่าทรัพย์สินและรายได้ตกกับบริษัทควบรวมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การควบรวมกิจการด้านการสื่อสารของประเทศ 2.การควบรวมกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศ มีทั้งที่อนุญาตแบบมีเงื่อนไขเข้มข้นมากและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการขอควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 รายใหญ่ และพบว่าแทบไม่มีประเทศใดเลยที่เป็นการควบรวมจาก 3 ราย เหลือ 2 รายใหญ่อย่างประเทศไทย

3.กรอบระยะเวลาในการพิจารณาการควบรวมกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศที่ผ่านมา มีตั้งแต่ใช้เวลา 3 เดือน จนถึงไม่กำหนดกรอบระยะเวลา ซึ่งประเทศเหล่านั้นเป็นการขอรวมธุรกิจภายใต้บริบทจากผู้ประกอบกิจการ 4 ราย เหลือ 3 ราย ดังนั้น ของประเทศไทยนั้นเป็นการขอรวมธุรกิจจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จึงอาจจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น

4.ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ที่ กสทช. ชุดปัจจุบัน แต่งตั้งขึ้นภายใต้โรดแมป เพื่อพิจารณาดีลการควบรวมนี้ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ชี้ว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต ตลอดจนกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำที่เป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน โดยกำหนดเงื่อนไขเท่าที่จำเป็น

Advertisement

ขณะที่ คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ขอรวมธุรกิจจะมีแรงจูงใจในการขึ้นค่าบริการหลังควบรวมสำเร็จ ผู้เล่นรายใหม่จะเจออุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดยากขึ้น จีดีพีจะลดลงราว 0.05% – 1.99% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 0.05 – 2.07%

ส่วน คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี เห็นว่า กรณีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจมีผลดี/ผลเสียแตกต่างกัน และผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายและคลื่นน้อยที่สุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และ คณะอนุกรรมการด้านผู้บริโภค เห็นว่าไม่ควรให้ควบรวม แต่หากให้มีการควบรวม ก็ควรมีการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการ

โดยส่งเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ยังสื่อมวลชน รวมถึงให้ข้อมูลผ่านหน้าเฟซบุ๊ก กสทช. เพื่อคลายข้อสงสัยและสื่อสารกับสาธารณะบนหลักฐานและข้อเท็จจริง เนื่องจากที่ผ่านมา เกิดคำถามขึ้นในสังคมมากมาย ว่าจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างไร จะทำให้เกิดการผูกขาดธุรกิจหรือไม่ และเป็นผลดีอย่างไรต่อเศรษฐกิจและประเทศ ตลอดจน กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาต/ไม่อนุญาตหรือไม่

Advertisement

ซึ่งถัดมา วันที่ 26 สิงหาคม นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูล ‘5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค’ ดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นข้อมูลที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง และกระทบต่อชื่อเสียงของผู้ขอควบรวมกิจการ เพราะข้อมูลดังกล่าวอาจยังเป็นเพียง ‘ความเห็น’ หรือ ‘ข้อคิดเห็น’ ของบางฝ่ายเท่านั้น รวมทั้งยังเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีข้อยุติและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสทช.

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า เมื่อเข้าไปเช็ก ‘5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค’ ตามที่ กสทช. เผยแพร่ชุดภาพอินโฟกราฟิก ล่าสุด กลับถูกลบไปแล้ว พร้อมกับการให้ข่าวจากทางฝั่งทรู-ดีแทค ที่ยื่นหนังสือทักท้วงว่าไม่เป็นกลาง ไม่ครบถ้วน

จึงขอนำภาพที่ถูกลบไปแล้ว มาให้ได้พิจารณากันว่า ไม่เป็นกลางอย่างไร ไม่ครบถ้วน หรือไม่อย่างไร มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ระยะเวลา และเคสการพิจารณาการควบรวมในต่างประเทศ รวมไปถึงสรุปสาระสำคัญรายงานอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ซึ่งส่วนตัวดิดูแล้วรู้สึกว่าเป็นกลางอย่างมาก แถมยังเป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ แต่ทางบอร์ด กสทช. ก็รับลูก และมีคำสั่งให้ลบโพสต์นี้

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา มีการเผยแพร่เอกสารบันทึกข้อความ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม โดย ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์  ประธาน กสทช. เรื่อง การเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์กรณีการควบรวม โดยมีสาระสำคัญระบุว่า ‘5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค’ ที่สื่อหลายสำนักได้เผยแพร่ออกไป กสทช.ยังไม่เคยมีมติ และไม่เคยเห็นชอบให้มีการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะที่เป็นประเด็นทางกฎหมาย จึงขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

นอกจากนี้ ขอให้ถือเป็นแนวปฏิบัติว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลหรือสื่อประชาสัมพันธ์ ใดๆ ของ กสทช. จะต้องได้รับความเห็นจากประธาน กสทช. ก่อนเท่านั้น หากการเผยแพร่ข้อมูลหรือสื่อประชาสัมพันธ์นั้นเป็นการดำเนินการโดยกรรมการ กสทช. ท่านหนึ่งท่านใดเป็นรายบุคคล ให้ระบุชัดเจนว่าเป็นการดำเนินการในนาม กรรมการ กสทช. ท่านนั้นๆ

สำนักข่าวอิศรา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image