ก.อุตฯผนึก 5 บิ๊กคอร์ป ดันสตาร์ตอัพบุกตลาดโลก

หลายคนทราบดีว่า วิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ตอัพ คือฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจ หากไทยมีสตาร์ตอัพในปริมาณมากๆ และมีความแข็งแกร่งย่อมส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศด้วย

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐจึงตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ตอัพอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างออกนโยบายด้านการส่งเสริมและจัดทำโครงการต่างๆ มากมายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ แต่กลับพบว่าจำนวนสตาร์ตอัพไทยที่ประสบความสำเร็จสูงนั้นยังมีไม่มากนัก

ลงลึกในรายละเอียด พบข้อจำกัดหลายด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต อาทิ ผู้ประกอบการไม่มีทักษะการดำเนินธุรกิจที่ดีพอ ประสบการณ์น้อย บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงเฉพาะด้านมีจำนวนน้อย การรวมกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมยังมีไม่มากนัก เงินทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มีจำกัด รวมถึงการสนับสนุนทางด้านการตลาดยังไม่ดีพอ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีอุปสรรคจากปัจจัยแวดล้อมที่สตาร์ตอัพต้องเผชิญ ทั้งต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ที่พุ่งปรี๊ดผันผวนรายวัน

อุปสรรคเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไข!!

Advertisement

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ซึ่งพัฒนาสตาร์ตอัพได้ถึง 200 ราย พบปัญหาในรูปแบบเดียวกัน เพราะมีสตาร์ตอัพที่พัฒนาต่อได้เพียง 75 ราย จึงไม่รอช้าปรับยุทธวิธี เร่งเดินหน้าโครงการ เชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น” (DIProm Startup Connect) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีดีพร้อม อธิบายถึงเป้าหมายโครงการดีพร้อม สตาร์ตอัพ คอนเน็กต์ ว่าโครงการนี้จะเพิ่มขีดความสามารถให้สตาร์ตอัพ เกิดการพัฒนาทักษะการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เน้นเชื่อมโยงเครือข่ายด้วยการจับคู่ หรือเจรจาธุรกิจ หรือบิซิเนส แมตชิ่ง กับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ หรือบิ๊กธุรกิจรายใหญ่ของประเทศ โดยปีนี้มี 5 รายร่วมสนับสนุน ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด

ณัฐพลระบุอีกว่า หลังการจับคู่ หรือเจรจาธุรกิจ สตาร์ตอัพและ 5 บริษัทใหญ่จะมีกลไกส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมร่วม หรือ Co-creation มีการทดลองใช้นวัตกรรม หรือโซลูชั่นในตลาดจริง ถือเป็นมิติใหม่ของการสนับสนุนสตาร์ตอัพ สร้างโอกาสในการขยายตลาด และสร้างพาร์ตเนอร์ชิปร่วมกัน เปิดประสบการณ์ในสนามจริงที่มีขนาดใหญ่ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น หลังจากนั้นดีพร้อมจะจัดกิจกรรมนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งสนับสนุนเงินทุน อาทิ นักลงทุนบุคคล หรือแองเจิลอินเวสเตอร์ กิจการเงินร่วมลงทุน หรือวีซี บริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือซีวีซี ด้วยเช่นกัน

Advertisement

“ดีพร้อมกำหนดเป้าหมายสนับสนุนสตาร์ตอัพในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก หรือเทคโนโลยีทั่วไปที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจบีซีจี อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร วัสดุชีวภาพ และพลังงาน เพราะจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี อย่างเป็นรูปธรรม โดยอนาคตดีพร้อมจะดึงภาคเอกชนขนาดใหญ่รายอื่นๆ ร่วมพัฒนาสตาร์ตอัพไทยให้ครอบคลุมมากขึ้น” อธิบดีดีพร้อมสรุปภาพรวม

ตรวจสอบความคืบหน้าโครงการพบว่ามีสตาร์ตอัพสามารถจับคู่ เจรจาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการตลาด 17 บริษัท มูลค่าเศรษฐกิจ 176 ล้านบาท จำนวนนี้มีความคืบหน้าในการเจรจา 14 บริษัท อาทิ บริษัท ไอริสซาร์ จำกัด จับคู่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) สนใจใช้เรดาร์ในงานอวกาศและจรวดเล็ก วงเงิน 3 ล้านบาท และจับคู่กับบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด สนใจใช้เรดาร์ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ อาทิ ตรวจสอบระดับสารใน Silo วงเงิน 2 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจับคู่กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สนใจระบบขับดันดาวเทียม อยู่ระหว่างนัดหารือรอบ 2 วงเงิน 5 ล้านบาท และจับคู่มหาวิทยาลัยมหิดล ทำ Market Validation โดยจัดกิจกรรม Hackathon ร่วมกัน

บริษัท อินฟิไลท์ จำกัด จับคู่ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ในเครือ ปตท.) นำเสนอโซลูชั่นที่เป็นอีวี โดยเน้นที่สมาร์ท แพคกิ้ง ล็อก เซ็นเซอร์ ให้กับบริษัท อรุณ พลัส เนื่องจากอรุณ พลัส มีอีวี ชาร์จเจอร์ อยู่แล้ว แต่ไม่มีระบบบริหารจัดการพื้นที่จอด วงเงิน 16.7 ล้านบาท และบริษัท ไอโฟลว์เทค จำกัด จับคู่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาระบบปรับสภาพน้ำสำหรับใช้งานในฟาร์มไก่ มูลค่าเทคโนโลยีเบื้องต้น 5 ล้านบาท หากมีการขายในสาขาต่างๆ ของซีพีอาจจะมีมูลค่า 140 ล้านบาทในอนาคต และจับคู่ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด

สนใจเป็นดิสทริบิวเตอร์ กระจายสินค้าแก่ลูกบ้านของเอสซีจี โดยจะกระจายสินค้าได้ 3,000 ชิ้นต่อปี คิดเป็นมูลค่า 53 ล้านบาท

ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคือ มีสตาร์ตอัพดำเนินงานการสร้างนวัตกรรมร่วม 8 บริษัท มูลค่าเศรษฐกิจ 76.5 ล้านบาท อาทิ บริษัท ไอโฟลว์เทค จำกัด กับ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาระบบปรับสภาพน้ำสำหรับใช้งานในฟาร์มไก่ 10 ฟาร์ม บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จำกัด กับโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล พัฒนาเครื่องตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัล ใน 5 โรงพยาบาล และ 2 คลินิก และบริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด กับบริษัท พรีม่า เอเลแกนซ่า จำกัด ร่วมพัฒนาสินค้าออร์แกนิค จากเดิมเป็นกระดาษจากเส้นใยพืช

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ดีพร้อมได้จัดกิจกรรมการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งเงินทุน (Pitching Day) มีบริษัทร่วมลงทุนภาคเอกชนเข้าร่วมงาน อาทิ ECG Venture Capital, Nexter venture by SCG, MAX Ventures, AI and Robotics Ventures, REAPRA, บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน)

ไฮไลต์นวัตกรรมมี 8 ธุรกิจสตาร์ตอัพร่วมโชว์เคส ประกอบด้วย 1.เครื่องตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัล แปลงการดมกลิ่นเป็นดิจิทัล ทดแทนแรงงานคนที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง อาทิ โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก สารเคมี 2.เครื่องปรับคุณภาพน้ำสำหรับการเกษตร เพิ่มผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นกว่า 30% โดยไม่ใช้ไฟฟ้าและสารเคมี 3.OXYMILK เครื่องนวดกระตุ้นน้ำนม บรรเทาอาการปวดคัดตึงเต้านมของคุณแม่หลังคลอด 4.ซอร์เดิร์ม ยาทารักษาโรคสะเก็ดเงินและผิวหนังอักเสบ ชนิดไม่มีสเตียรอยด์ หนุนแพทย์รักษาตรงจุด ไม่มีผลข้างเคียงระยะยาว

5.Whole Food Plant based จากเห็ดแครง คุณค่าทางโภชนาการสูงเทียบเท่าการทานเนื้อสัตว์ 6.เครื่องแยกเศษคอนกรีตจากบ่อคายกาก ลดของเสียจากการก่อสร้าง ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม 7.ระบบเตาปฏิกรณ์ชีวภาพตัวอ่อนแมลงวันลาย จัดการขยะอินทรีย์ ลดการฝังกลบและความเสื่อมของดิน คืนความหลากหลายทางชีวภาพ และ 8.Cantrak ระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการพื้นที่ปลูกกัญชง-กัญชา เพิ่มการทำงานที่แม่นยำ ประหยัดเวลา ประสิทธิภาพสูง

กิจกรรม Pitching Day นี้ สิ่งที่สตาร์ตอัพจะได้รับคือ ได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เนื่องจากการทำ Co-creation จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า เพื่อใช้ในการพัฒนานวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น ส่วนสิ่งที่เอกชนรายใหญ่จะได้รับคือ ได้ไอเดียใหม่ๆ หรือนวัตกรรมมาปรับใช้ในองค์กรได้อย่างทันท่วงที เพราะความต้องการของลูกค้าจะเปลี่ยนแปลงได้เพียงชั่วข้ามนาที จนบริษัทก้าวตามไม่ทัน ดังนั้น การร่วมมือกับสตาร์ตอัพที่มีข้อได้เปรียบเรื่องความคล่องตัวและมีไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงเหมือนเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อกันได้ลงตัว นอกจากนี้ การทำ Co-creation จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในนวัตกรรมของสตาร์ตอัพได้มากขึ้นว่าใช้งานได้จริง

ทราบว่างานนี้เอกชนที่เข้าร่วมสนใจทุบโต๊ะร่วมลงทุนกับ 8 สตาร์ตอัพอนาคตไกลอย่างคึกคัก คาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาททีเดียว!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image