‘ฉัตร’ อึ้ง กสทช. แย้งศาลปกครองกลาง ตีมึนไร้อำนาจเคาะดีลทรู-ดีแทค ส่อแววมีเบื้องหลัง

‘ฉัตร’ อึ้ง กสทช. แย้งศาลปกครองกลาง ตีมึนไร้อำนาจเคาะดีลทรู-ดีแทค จวกที่ปรึกษาอิสระ ยก กม.แถ ส่อแววมีเบื้องหลัง เห็นประโยชน์คนกลุ่มเดียว

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ส่องอำนาจตามกฎหมาย กสทช. อนุญาตควบรวมได้หรือไม่ ซึ่งจัดขึ้นสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า การพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เป็นอีกหนึ่งเรื่องปริศนาสำหรับประเทศไทย ว่า เหตุใด กสทช.จึงบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ศาลปกครองกลาง โดยนายณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กตป.) ได้ยื่นขอทุเลาการใช้ประกาศ กสทช. พ.ศ.2561 และขอให้กลับไปใช้ประกาศ กสทช. พ.ศ.2553 และศาลได้ระบุชัดเจนว่า ประกาศ กสทช. พ.ศ.2561 ยังมีอำนาจอยู่

“เมื่อศาลปกครองกลางเห็นดังนั้น เหตุใด กสทช.ต้องเห็นแย้ง และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจการพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะไม่ว่าตีความอย่างไร จะมีผลต่อการตัดสินใจเรื่องนี้จริงๆ หรือไม่ แต่เข้าใจว่าอาจมีบางเสียง ที่ทำงานร่วมกับ กสทช. ซึ่งหนึ่งในนั้นคือที่ปรึกษาอิสระ ที่ กสทช.ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้จัดทำรายงานผลการวิเคราะห์กรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ระบุว่าชัดเจนว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตการควบรวมกิจการครั้งนี้” นายฉัตรกล่าว

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB

นายฉัตรกล่าวว่า นอกจากนี้ ในรายงานยังอ้างถึงมาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ให้อำนาจ กสทช.ในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด หรือทำให้การแข่งขันน้อยลง หากมีการใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน แต่ส่วนนี้ที่ที่ปรึกษาอิสระตีความว่าไม่รวมถึงการออกประกาศ เพื่อให้อำนาจในการอนุมัติการควบรวมกิจการของผู้รับใบอนุญาตได้ ซึ่งนั่นแปลว่า วิธีคิดของที่ปรึกษาอิสระ หากจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ ต้องมีการเขียนกำกับอย่างชัดเจนมากๆ ซึ่งเป็นการตีความที่แคบลงไปอีก

“ในโลกนี้ยังมีพฤติกรรมอีกมากมายที่เป็นการลดหรือจำกัดการแข่งขัน แต่ไม่ได้เขียนไว้ใน พ.ร.บ. และจะบอกว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต มีเพียงหน้าที่ในการออกมาตรการเฉพาะเยียวยาภายหลัง นั่นแปลว่า เรื่องอื่นผู้ประกอบการสามารถทำได้หรือไม่ อาทิ ถ้าจะฮั้วกันก็สามารถทำได้ และ กสทช.จะออกมาตรการเยียวยาภายหลังอย่างนั้นหรือ” นายฉัตรกล่าว

Advertisement
นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB

นายฉัตรกล่าวว่า ขณะเดียวกัน แม้เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด คือมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% แต่ตามประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดว่า ผู้มีอำนาจเหนือตลาด คือ ผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 25% หรือผู้ประกอบการ 4 ราย มีส่วนแบ่งทางการตลาดเท่ากัน ซึ่งสอดคล้องกับค่าดัชนี HHI ที่เป็นตัวชี้วัดอัตราการกระจุกตัวของธุรกิจในตลาด ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการจะลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย เพราะมีปัญหาแน่นอน ลำพังสภาพตลาดธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบันอันตรายและมีผู้มีอำนาจเหนือตลาดอยู่แล้ว กสทช.จะบอกว่า ตัวเองไม่มีอำนาจ กับเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร

“กสทช.ไม่รู้จริงๆ ไม่ได้ เพราะมีการพูดถึงเรื่องในหลายครั้ง และคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาดีลการควบรวมนี้ ยืนยันอย่างชัดเจนด้วยมติ 10:1 เสียง ว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวมกิจการครั้งนี้ ฉะนั้น การที่ กสทช.ดึงดันว่าตัวเองไม่มีอำนาจ คิดว่าต้องมีปัจจัยเบื้องลึกเบื้องหลัง ในทางเศรษฐกิจการเมืองอยู่ ที่ยังไงแล้วผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปจะต้องทำงานหนักเพื่อให้กฎหมายไม่ถูกตีความไปเพื่อดูแลคนแค่เพียงบางกลุ่ม แต่ละเลยคนส่วนใหญ่ของประเทศไป” นายฉัตรกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image