ผู้บริโภคทั่วประเทศ ฮือค้านควบรวมทรู-ดีแทค จับไต๋ ‘กสทช.’ ส่อไฟเขียว

ผู้บริโภคทั่วประเทศ ฮือค้านควบรวมทรู-ดีแทค จับไต๋ ‘กสทช.’ ส่อไฟเขียว จี้ผุดเงื่อนไขชัด สร้างเชื่อมั่นประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภคหลายจังหวัด อาทิ ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง มีการเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดีย เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: กสทช. เปิด 5 Facts ดีลทรู-ดีแทค ย้ำชัด ไม่มีประเทศใดควบรวมเหลือ 2 ราย

นางสาวปาณิสรา ตุงคะสามน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของเครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภคในหลายจังหวัด เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค เพราะกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการประกอบด้วย 1.ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง เกิดการผูกขาดตลาด เพราะสัดส่วนการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป และในตลาดธุรกิจโทรคมนาคมที่มีผู้ให้บริการ 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ย่อมส่งผลต่อการแข่งขันทั้งด้านการพัฒนาบริการ การขยายพื้นที่การบริการ รวมถึงการแข่งขันด้านราคา และ 2.ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น อย่างน้อย 7-10% แม้จะแข่งขันกันตามกลไกตลาดก็ตาม

Advertisement

“สภาองค์กรของผู้บริโภคแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการนี้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการจัดเวทีเสวนาวิชาการเพื่อคัดค้านไม่ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อนุญาตให้ควบรวมกิจการได้ และในวันที่ 14 กันยายนนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค จะมีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ Consumer Forum ep:4 ยุคผูกขาด 5G จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิทธิผู้บริโภค เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อสังคมได้ตื่นตัวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพิ่มเติมจากที่ผู้ขอควบรวม อ้างว่าการควบรวมกิจการจะทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่มีหลักประกันใดมาการันตีเลยว่า สิ่งต่างๆ เหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง” นางสาวปาณิสรากล่าว

นางสาวปาณิสรากล่าวว่า มีแนวโน้มว่า กสทช.จะอนุญาตให้ควบรวมกิจการได้โดยมีเงื่อนไข ซึ่งประเมินจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของ กสทช. ทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง และกลุ่มนักวิชาการ รวมถึงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่างทรูและดีแทค และการค้าปลีก-ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร และผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาผลกระทบของการควบรวมกิจการครั้งนี้

Advertisement

“หาก กสทช.อนุญาตให้ควบรวมกิจการได้ ก็หวังอย่างยิ่งว่าจะมีการวางเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสังคม ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ใกล้ชิด และประเมินเงื่อนไข หรือมาตรการเยียวยาดังกล่าวว่าสามารถยอมรับได้หรือไม่ เพื่อกำหนดทิศทางในการเคลื่อนไหวอีกครั้งต่อไป” นางสาวปาณิสรากล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image