อ.กฎหมาย มธ.-จุฬาฯ ยัน กสทช. มีอำนาจเคาะดีล ทรู-ดีแทค พิรุธลดอำนาจตัวเอง เอื้อทุนผูกขาด

อ.กฎหมาย มธ.-จุฬาฯ ยัน กสทช. มีอำนาจเคาะดีล ทรู-ดีแทค มึน! องค์กรอิสระโบ้ยกฤษฎีกาตีความ พิรุธลดอำนาจตัวเอง เสี่ยงผิด ม. 157 ฐานละเว้นฯหน้าที่ เอื้อทุนผูกขาด

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ส่องอำนาจตามกฎหมาย กสทช. อนุญาตควบรวมได้หรือไม่ ซึ่งจัดขึ้นสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า การควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคนั้น ภาครัฐไม่สามารถพิจารณาได้ตามลำพัง เพราะการจัดหาสินค้า หรือบริการ ให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เกิดจากหลายองค์ประกอบ ซึ่งในระบบสังคมนิยมที่มีการผูกขาดตลาดโดยรัฐ ทำให้สินค้าหรือบริการมีประสิทธิภาพน้อยกว่าระบบทุนนิยม

เพราะมีข้อได้เปรียบ คือการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ทำให้สินค้า บริการมีเพียงพอ ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ระบบทุนนิยมที่เปิดให้มีการแข่งขัน กลับไม่แข่งขัน โดยการที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายใดรายหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ยิ่งย่ำแย่ไปกว่าการผูกขาดโดยรัฐ เพราะอย่างน้อยรัฐทำเพื่อโยชน์ของประชาชนและส่วนรวม แต่หากเป็นทุนนิยมผูกขาด ทุกอย่างจะตกไปอยู่กับนายทุนเท่านั้น

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า การรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค จะเรียกว่าซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการ เป็นเรื่องที่นักธุรกิจสามารถหาทางดำเนินการได้ทั้งหมด แต่ประเด็นสำคัญคือผลจากการควบรวมกิจการ ที่จะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมสูงเกิน 50% ซึ่งโดยหลักการของการแข่งขันเสรีตลาดจะต้องเอื้อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาในระยะยาวแน่นอน

จึงถามว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล จะมีหน้าที่เพียงรับทราบตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ 5 ซึ่งระบุว่า ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตรายงานต่อ กสทช. อย่างน้อย 90 วันก่อนการดำเนินการ แต่ไม่มีอำนาจในปฏิเสธการควบรวม ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น อย่างนั้นหรือ

Advertisement

“ประกาศเป็นสิ่งที่ กสทช. เขียนขึ้น และไม่อาจยิ่งใหญ่ไปกว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ซึ่งกำหนดว่า กสทช.มีอำนาจในการกำกับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด โดยเฉพาะตลาดหลังควบรวมกิจการ ที่จะเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 ราย กสทช. ยิ่งต้องทำหน้าที่ โดยยึดประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่เป็นเรื่องประหลาดที่มีการทำหนังสือขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายของรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตีความอำนาจการพิจารณา ทั้งที่ กสทช. เป็นองค์กรอิสระ” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ในมาตรา 27 ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ ตามข้อ 6 พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม และกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตเงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาต ขณะที่ ข้อ 11 กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

ส่วนข้อ 13 คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ และคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

Advertisement

และในข้อ 17 ให้กำหนดลักษณะการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อหรือการครอบงำกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่ใช้คลื่นความถี่ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง หรือโดยบุคคลอื่นใด ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน

ทั้งนี้ กสทช.ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภค โดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ กสทช.ระบุว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค จะเป็นดีลควบรวมที่ 9 ในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมด 8 ดีลที่ผ่านมา ใช้ระบบรายงานภายหลังการควบรวม ดังนั้น จึงต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เพราะเป็นครั้งแรกที่มูลค่าทรัพย์สินและรายได้รวมของบริษัทควบรวม สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ จึงไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับการควบรวมในกิจการประเภทอื่นๆ ที่ผ่านมาได้

เสวนาวิชาการ เรื่อง ส่องอำนาจตามกฎหมาย กสทช. อนุญาตควบรวมได้หรือไม่

 

“อำนาจของ กสทช. ตาม พ.ร.บ. คือต้องกำกับดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด ส่วนประกาศที่อ้างว่าต้องทำตาม เป็นประกาศที่ทำขึ้นเอง ซึ่งมองว่ามีความผิดปกติ และเข้าข่ายไม่ชอบด้วยการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งให้อำนาจไว้ ดังนั้น ประกาศที่ออกมาจึงถือเป็นการลดอำนาจตัวเอง จากเดิมขออนุญาตกลายเป็นแค่แจ้งเพื่อทราบ สุดท้ายผลกระทบต่างๆ ก็ตกอยู่ที่ประชาชน เพราะการที่ผู้ประกอบการมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 50% มีปัญหาแน่นอน ไม่ต้องรอให้ควบรวมกิจการก่อนแล้วจึงออกมาตรการอื่นๆ ตามมา เห็นชัดเจนว่าผิดอยู่แล้ว” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. พ.ศ.2561 ข้อ 5 ซึ่งระบุว่า ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตรายงานต่อ กสทช. อย่างน้อย 90 วันก่อนการดำเนินการ ซึ่งในข้อ 9 ระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549

โดยในข้อ 8 ระบุว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันโดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นหรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะการกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือผ่านตัวแทนจะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

“หากมองในแง่ดีอาจเป็นเพราะว่า กสทช. ไม่เข้าใจอำนาจตัวเอง ทั้งที่ศาลปกครอง และคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาดีลการควบรวมนี้ก็ชี้ชัดว่า กสทช. อำนาจตาม พ.ร.บ.ในการพิจารณเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าไม่ทำหน้าที่จะมีความผิดตามกฎหมายอาญาเสมอไป เพราะอาจเป็นไปได้ว่าสุจริตใจ แต่เมื่อรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด และยังไม่ทำหน้าที่ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แน่นอน” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า การควบรวมกิจการเป็นหนึ่งในแผนการดำเนินธุรกิจ และถือเป็นหน้าที่หนึ่งของผู้ประกอบการเอกชนที่ต้องการขยายธุรกิจ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ รวมถึงกำไรสูงสุด ฉะนั้น กสทช. เองก็มีหน้าที่ในการพิจารณาให้ถี่ถ้วน การกระทำดังกล่าวที่บอกว่า

ตัวเองไม่มีอำนาจพิจารณาเหมาะสมแล้วหรือไม่ อย่าลืมว่า อำนาจหลักคือการควบคุม หากเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ หลักคือปกป้อง แต่ทุกวันนี้ กลับตีความกันกลับหัวกลับหาง เรื่องอำนาจแต่ตีความทางปกป้อง สิทธิประชาชน ตีความในทางควบคุม ซึ่งเป็นวิธีคิดระบอบเผด็จการ เพราะระบอบประชาธิปไตยคือ ถ้าสิทธิของประชาชน ต้องปกป้อง อำนาจต้องควบคุม

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจะบอกว่า กสทช.มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการควบรวมกิจการ ให้ถือหุ้นหรือถือครองทรัพย์สินไขว้กันได้หรือไม่ โดยที่ด้านหนึ่ง ระบุว่า รัฐมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ ขณะที่ด้านหนึ่งระบุว่า รัฐมีอำนาจเฉพาะแค่รับทราบรายงาน คือ ปล่อยให้ผู้ประกอบการควบรวมกิจการไป จากนั้น จึงกำหนดมาตรการอื่นๆ เพื่อเยียวยา

แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นทั้ง 2 ด้านนี้ มีปัญหาและแง่มุมทางกฎหมายเหมือนกัน เพราะเกี่ยวข้องกับประกาศ กสทช. พ.ศ.2549 และ 2561 โดยประกาศ กสทช. พ.ศ.2549 ระบุว่า จะต้องมีการขออนุญาต แต่ประกาศ กสทช. พ.ศ.2561 มีเงื่อนไขบางอย่างที่ระบุว่า ต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. และเสนอไปยัง กสทช. ภายใต้กรอบเวลา แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันได้ ให้กำหนดมาตรการตามมาภายหลัง

รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าวว่า ลองคิดร่วมกัน หากการควบรวมกิจการแค่รายงานถือว่าเพียงพอแล้ว และมีการกำหนดมาตรการตามหลัง ยกตัวอย่าง หากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 ราย วันนี้ทั้ง 2 รายจะควบรวมกัน จะมีการถือหุ้นไขว้ ถามว่า รัฐควรมีอำนาจแบบใด มีอำนาจแค่รับรู้และกำหนดมาตรการภายหลังอย่างนั้นหรือไม่ ถ้ารัฐเพียงรับรู้ว่า ในวันที่ผู้ประกอบการควบรวมกิจการกันแล้ว จึงกำหนดมาตรการภายหลัง จะเกิดการแข่งขันหรือไม่

หรือแท้จริงแล้ว รัฐมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกันได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการจาก 4 รายเหลือ 3 ราย หรือ 3 รายเหลือ 2 ราย อยู่ที่ว่าจะตีความอย่างไร ถ้าตีความว่าแค่รายงานเพียงพอแล้ว และให้รัฐมากำหนดมาตรการภายหลัง จะกำหนดอย่างไร ในเมื่อ 2 บริษัทควบรวมกิจการกันแล้ว หรือจะให้ 2 บริษัทนี้แข่งขันกันเอง เช่น มือซ้ายแข่งกับมือขวาอย่างนั้นหรือ

“รัฐมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ การประกอบอาชีพของประชาชน ซึ่งมีวิธีและมาตรการหลายอย่าง แน่นอนว่าด้านหนึ่งรัฐมีประโยชน์ส่วนรวม และมีประโยชน์สาธารณะ ที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ประโยชน์สาธารณะยิ่งสูง อำนาจรัฐที่จะกำกับดูแล ที่จะควบคุม กำกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการประกอบอาชีพ สิทธิเสรีภาพของธุรกิจที่จะดำเนินธุรกิจ ก็ยิ่งต้องมีมาก และเมื่อใดที่เรื่องนั้นกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม ความปลอดภัย สุขภาพของประชาชน หรือเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เหตุผลและความชอบธรรมของรัฐ ที่จะกำกับดูแลยิ่งมีมาก” รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว

รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าวว่า ทั้งนี้ มีอยู่ 3 มาตรการใหญ่ๆ ที่รัฐจะควบคุม การประกอบธุรกิจ การประกอบอาชีพ ประกอบด้วย 1.ระบบอนุญาต หมายความว่า ห้ามทำจนกว่าจะได้รับอนุญาต ซึ่งต้องมาขออนุญาตก่อน จึงจะพิจารณาว่า ทำได้หรือไม่ 2.การรายงานหรือแจ้ง โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแจ้งให้รัฐรับรู้ รัฐเก็บไว้เป็นข้อมูลและติดตามภายหลัง ว่า ประชาชนหรือธุรกิจนั้น ทำตามกฎเกณฑ์ กติกาหรือไม่ และ 3.ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องขอ แต่ระหว่างการดำเนินธุรกิจ หรือประกอบอาชีพจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาที่รัฐกำหนด

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำถามคือ แล้วทรัพยากรอย่างคลื่นความถี่ โทรศัพท์มือถือ โทรคมนาคม มีความจำเป็น สำคัญ และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือไม่ ขณะเดียวกัน การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจโทรคมนาคมนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ต้นทุนสูง และต้นทุนอย่างเดียวไม่พอ ต้องควบคู่ไปกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะธุรกิจประเภทนี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องกำกับดูแลโดยการอนุญาต และตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เขียนไว้ลักษณะนี้

เช่นเดียวกับมาตรา 60 ในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็น สมบัติของชาติ และการจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และประชาชน ประกอบกับ วรรค 2 ระบุว่า การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุด ของประชาชน ความมั่นคงของรัฐการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถีด้วย

รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าวว่า ตามที่กฎหมายบัญญัติ แสดงว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และรัฐประสงค์ที่จะคุ้มครองเป็นพิเศษ ถึงขนาดที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ พ.ศ.2540, 2550 และ 2560 ต่อมารัฐเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ จึงเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่

เพื่อให้เป็นไปตามวรรค 2 คือเป็นไปตามประโยชน์สูงสุดของประชาชน เพื่อความมั่นคงของรัฐ และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งในการนี้องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม และสร้างภาระให้กับผู้บริโภคเกินความจำเป็น ซึ่งการควบรวมกิจการส่งผลให้ราคาค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนหรือไม่

ดังนั้น เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับคลื่นความถี่ และมีการกำหนดองค์กรเฉพาะซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการออกทั้ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ว่าด้วยการกำกับธุรกิจโทรคมนาคม ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และรัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์ที่จะกำกับดูแลธุรกิจคลื่นความถี่ และมอบหมายภารกิจนี้ให้แก่ กสทช.

แต่เนื่องจากคณะกรรมการตามกฎหมายไทยมีเยอะมาก จึงมีกรรมการอีกชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีกฎหมายป้องกันการค้า การทำกำไรที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน และมีการกำหนดว่าพฤติกรรมอย่างไร เป็นการตั้งราคาแบบล่าเหยื่อ พฤติกรรมอย่างไรเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม

รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าวว่า ทำไมรัฐต้องควบคุมให้เกิดการแข่งขันทางการค้า เพราะถ้าไม่มีการแข่งขัน ผลร้ายจะตกอยู่ที่ประชาชน หรือผู้บริโภคดังนั้น หน้าที่ของรัฐ คือต้องคุ้มครองประชาชน คุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับความเป็นธรรม ให้ราคาสินค้าและบริการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่แพงเกินไป ขณะเดียวกัน ยังให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบกิจการมีความเป็นธรรม ส่งเสริมให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

ซึ่ง กขค. มีอำนาจในการดูว่า ถ้าบริษัทผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ จะมีการควบรวมกิจการหรือถือหุ้นไขว้กัน ต้องขออนุญาต แต่มีหลักเกณฑ์กำหนดว่าธุรกิจนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่จึงต้องขออนุญาตและเผอิญว่ากฎหมายของ กขค. ดังกล่าว มีการยกเว้นว่า หากธุรกิจใดมีกฎหมายเฉพาะกำกับอยู่แล้ว อำนาจของ กขค. จึงตกไป และให้คณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ นั้น เป็นผู้พิจารณา

แต่ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากบางแห่งระบุว่า ตามมาตรา 21 ซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะ แต่อ้างว่าเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เพราะมาตรการ 21 หมายถึงการออกคำสั่งทางปกครอง คือ เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ทำ แล้วไม่ทำจึงมีการบังคับ ดังนั้น จึงหมายถึง กสทช. มีอำนาจออกคำสั่งทางปกครอง ถ้าเรื่องนั้นเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน ทั้งนี้ ยังบอกอีกว่า ตามมาตรา 21 กสทช. ไม่มีอำนาจในการออกกฎ ประกาศต่างๆ

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าวว่า เมื่อกฎหมายให้อำนาจ กสทช. ในการควบคุมมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาต กระทำการอันเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน ในการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน มีอำนาจในการออกคำสั่งเรื่องนี้แล้ว เขาก็ย่อมมีอำนาจในการวางกฎเกณฑ์ ดังนั้น อำนาจในการออกกฎ ซึ่งในนี้เรียกว่าประกาศ จึงเป็นอำนาจโดยปริยาย เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ การออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 21 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่แล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าบริษัทใดขอใบอนุญาตจาก กสทช. เพื่อไปทำอะไรก็แล้วแต่ ถือเป็นความสัมพันธ์พิเศษกับ กสทช. ดังนั้น กสทช. จึงมีอำนาจในการกำกับดูแลในระดับที่ต้องขออนุญาต และออกกฎเกณฑ์ กติกามากำหนดการประพฤติปฏิบัติย่อมได้

“เรามีบ้านที่ได้รับอนุญาตแล้วก่อสร้างถูกต้อง วันหนึ่งจะขยายพื้นที่เพิ่มเติม 5 หรือ 10 ตารางเมตร เกิน 5-10% ยังต้องขออนุญาตใหม่ ลองคิดถึงระดับความสำคัญของประโยชน์สาธารณะที่เกี่ยวข้องคิดถึงประโยชน์สาธารณะจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่จะเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 ราย และไม่มีการแข่งขัน คิดว่าประโยชน์สาธารณะกับเรื่องการสร้างบ้านนั้น อันไหนมันสำคัญกว่ากัน” รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว

รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าวว่า เวลาจะตีความประกาศ หรือตีความกฎหมาย ที่เขียนเหมือนว่าขัดกันหรือไม่ ซึ่งมาตราหนึ่งระบุว่า เป็นการขออนุญาตตามประกาศ พ.ศ.2549 อีกข้อหนึ่งบอกว่า แค่รายงานต่อเลขาธิการ กสทช. และกำหนดมาตรการภายหลัง แนวทางที่ 1 ตีความว่า ต้องขออนุญาตซึ่งสอดคล้อง ตามประกาศ พ.ศ.2549 ที่ตัวเองเขียนไว้ สอดคล้องตาม พ.ร.บ.แม่บท และสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ

แนวทางที่ 2 ตีความว่าแค่รับรายงาน และกำหนดมาตรการภายหลัง แต่เป็นการตีความที่ขัดต่อประกาศของตัวเอง และขัดต่อ พ.ร.บ. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วจะตีความกฎหมายอย่างไร

และแนวทางที่ 3 ที่ระบุว่า ให้ควบรวมกิจการมาแล้ว 8 ดีล และการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค เป็นดีลที่ 9 แต่ทราบหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้ เกิดการฮั้วประมูล ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าเป็นนโยบายการค้าพาณิชย์ทำได้ แต่ต่อมาเกิดการฮั้วประมูลงานภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อประชาชนเพราะเงินที่ฮั้วประมูลกัน ทำให้รัฐต้องซื้อและสร้างตึกในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นภาษีประชาชน ทำให้ศาลฎีกาต้องกลับหลัก ตีตกสัญญาเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ใช้บังคับไม่ได้

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“สิ่งที่เคยทำมาแล้วในอดีต สมมุติว่าผิดจะยังทำต่อไปหรือ และสำหรับเรื่องนี้ที่มีทั้งคนร้อง คนทักท้วง และเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบตามมาภายหลัง จะรับผิดหรือไม่ ขณะที่ ระยะเวลาการพิจารณาตามกฎหมายมี 2 แบบ แบ่งเป็น ระยะเวลาบังคับ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำมีปัญหา เช่น อาจหมดอำนาจทันที เป็นต้น และระยะเวลาเร่งรัด คือ เมื่อเกินกรอบเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีอำนาจที่จะพิจารณาอยู่

แต่ขณะเดียวกัน หากไม่พิจารณาไม่เสร็จสิ้นตามกรอบเวลาที่กำหนด อาจก่อให้เกิดความรับผิดได้เช่นกัน อาทิ ผู้ขอควบรวมมีการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย เพราะการพิจารณาล่าช้าเกินสมควร ดังนั้น จึงต้องอธิบายว่า ที่ล่าช้าเพราะเหตุใด เพราะการควบรวมกิจการนี้ไม่ใช่การควบรวมร้านโชห่วย 2 ร้าน

แต่ธุรกิจมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท ย่อมมีเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย การคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงกรณีศึกษาของต่างประเทศ ที่ใช้ประกอบการพิจารณาร่วมด้วย ทำให้ต้องพิจารณาเป็นเวลานาน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเกินสมควรหรือไม่ เพราะบางเรื่อง เป็นเรื่องยากระยะเวลาในการพิจารณาต้องยาวอยู่แล้ว แต่หลักคือ การตีความกฎหมายต้องเป็นไปโดยความสุจริต” รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image