‘สิทธิกร ดิเรกสุนทร’ ท้าชน PERFECT STORM ขึ้นเวทีโชว์-รุกช่วยปลดหนี้

‘สิทธิกร ดิเรกสุนทร’ ท้าชน PERFECT STORM ขึ้นเวทีโชว์-รุกช่วยปลดหนี้

เมื่่อมีการถามถึงผู้บริหารภาคเอกชน ทั้งภาคการผลิต การลงทุน การบริการ หรือแม้แต่ภาคการเงินว่า ได้มองทิศทางเศรษฐกิจไทยจากนี้อย่างไร คำตอบที่ได้รับในภาพกว้างต่างประเมินปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยงที่ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะห่วงใยเรื่องการขาดสภาพคล่องและการแบกรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นแก้ปัญหาได้ยาก โดยหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ คือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่พร้อมช่วยปลดล็อกปัญหา

สำหรับเรื่องนี้ “สิทธิกร ดิเรกสุนทร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ได้กล่าวถึงบทบาทของ บสย.ต่อการร่วมแก้ปัญหาดังกล่าวว่า ขณะนี้ บสย.ได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงานเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากพันธมิตรภายนอก อย่าง ธนาคารพาณิชย์ที่ส่งมอบลูกค้าบางส่วนเพื่อให้ บสย.เข้าไปค้ำประกันช่วยเหลือลดภาระหนี้เดิมและเติมทุนต่อชีวิตทางธุรกิจ ระบบดิจิทัลจะช่วยสร้างธุรกิจเกิดใหม่หรือฟื้นธุรกิจให้ไปต่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือรายย่อย และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กๆ หรือบางอาชีพที่เคยอยู่นอกระบบสินเชื่อให้เข้ามาในระบบได้ เพื่อให้เกิดความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

“โจทย์ของ บสย. คือ การบริหารหนี้ที่เป็นตะกอนสะสมเดิมที่มีเป็นหมื่นๆ ล้านบาท และหนี้เกิดใหม่ในช่วงปี 2563-64 บางส่วนเจอปัญหาหนักในช่วงการระบาดของโควิด-19 จนถึงขณะนี้อาจปรับตัวหรือปรับตัวได้ช้า ในช่วง 2 ปีนั้น ได้มีการค้ำประกัน 2.45 แสนล้านบาท หรือปี 2564 ฐานลูกค้าที่ บสย.ค้ำประกันประมาณ 2.2 แสนราย ส่วนนี้จะเริ่มเห็นว่ากี่รายที่จะเป็นปัญหาไหลเข้าตะกอนหนี้ใหม่ เริ่มในปี 2565-67”

สิทธิกรกล่าวว่า บสย.จึงต้องมีบ่อบำบัด วางแผนตะกอนหนี้เก่าจะบริหารอย่างไร ตะกอนใหม่ที่ถูกธนาคารพาณิชย์ส่งเข้ามาจะทำอย่างไร โดยมีลักษณะหนี้เกิดจากพิษโควิดกระจายอยู่ทั่วประเทศ พบว่า ลูกหนี้ที่เข้ามาเคลมเป็นระดับไมโคร ส่วนใหญ่เป็นหนี้แสนกว่าบาท หากใช้เจ้าหน้าที่โทรสอบถามแบบรายคนหรือนัดพบแบบ 1 ต่อ 1 ต้องใช้เวลามาก

Advertisement

“เมื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วย ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน บสย.ทำโปรแกรมที่สามารถให้ลูกหนี้ต้องติดต่อกับ บสย.ใช้เพียงโทรศัพท์มือถือในการเข้ากระบวนการติดต่อและตัดสินใจ โดย บสย.จัดตารางหลายแบบให้เป็นทางเลือก วิธีการคิดคำนวณต้นทุนพื้นฐานของแต่ละธุรกิจ เพื่อให้รู้ว่าต้องมีต้นทุนแท้จริงแค่ไหน และต้องการเงินลงทุนเท่าไหร่”

“เป็นการลดความเสี่ยงในระยะยาว เพราะได้รู้ต้นทุนจริงตั้งแต่แรก ตอนนี้ บสย.มีโปรแกรมหลายแบบให้เลือก จะเรียกว่าโปรแกรม ม่วง เหลือง เขียว และ โครงการ ‘บสย.พร้อมช่วย’ โดยยังมีแผนช่วยเหลือลูกหนี้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง ภายในสิ้นปีนี้ ‘หมอหนี้ บสย.’ จะออกสูตร ช่วยตอบทุกเรื่องที่เป็นปัญหาเอสเอ็มอี รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน และคำนวณต้นทุนของฟันด์”

“สิทธิกร” กล่าวว่า โครงการ “บสย.พร้อมช่วย” เป็นหนึ่งภายใต้แนวนโยบายของรัฐบาลแก้หนี้ยั่งยืน ช่วยให้กิจการยังเดินหน้าต่อไปได้ ที่สำคัญคือ ลดปัญหาการถูกฟ้องร้อง และยังช่วยปลดล็อกหนี้ เริ่มจากขั้นตอน ให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พร้อมจัดมาตรการให้เลือกตามกำลังลูกหนี้ ได้แก่ 1.ยืดหยุ่น ตัดเงินต้นเพียง 20% ตัดดอกเบี้ย 80% ผ่อนชำระนาน 5 ปี 2.ผ่อนน้อย เบาแรง หนี้ลด หมดแน่นอน ชำระครั้งแรกเพียง 1% ของยอดหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ส่วนที่เหลือ ผ่อนชำระนาน 5 ปี และ 3.ดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรก 10% จะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด และผ่อนชำระนาน 7 ปี เรียกได้ว่ามีเงินผ่อนขั้นต่ำ 500 บาทต่อเดือน ก็เข้าโครงการ บสย.ได้แล้ว

Advertisement

เอ็มดี บสย.ให้มุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจด้วยว่า ปัจจัยบวกตัวแรกกำลังเข้าไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว จากนี้จะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้นๆ เชื่อว่าทั้งปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวจะแตะ 10 ล้านคน ปัจจัยสองคือการฟื้นของกำลังซื้อที่อั้นมาตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลเกิดการฟื้นตัวภาคบริโภคในประเทศ หลายปีไม่ได้เที่ยวกลับมาเดินทางเที่ยวช่วงสุดสัปดาห์ วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์เพิ่มขึ้น
“เห็นถึงการจับจ่ายใช้สอย สะท้อนจากช่วงนี้ บสย.ค้ำประกันธุรกิจบริการ ร้านอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มต่อเนื่อง ปัจจัยที่สาม แม้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาพลังงานสูงขึ้น แต่ผลผลิตภาคเกษตรยังดี รายได้เกษตรปลูกผัก ผลไม้ หรือพืชเศรษฐกิจ พืชทดแทนพลังงาน ราคายังดี ก็จะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อใน 3 เดือนที่เหลือปีนี้”

“ส่วนมุมมองต่อปัจจัยลบ คือ ผลจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป หรือประเทศหลักในเอเชีย หลายประเทศเลือกแก้ปัญหาโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงไทย เพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก พยุงอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไปกว่านี้ อีกทั้งปัจจัยต้นทุนภาคผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน สองส่วนนี้ส่งผลต่อดีมานด์ของตลาดสหรัฐและยุโรป ส่งผลต่อกำลังซื้อลดลง หากตลาดโลกหดตัวไม่ดีต่อภาคส่งออกของไทย ส่วนสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน หรือ ความขัดแย้งทางรัฐภูมิศาสตร์ที่มีอยู่ไม่ลุกลามไปกว่านี้ ยังไม่เป็นปัจจัยที่รุนแรงเพิ่ม อีกเรื่องที่ต้องจับตาคือ สภาพอากาศที่แปรปรวนและการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติในหลายประเทศจะมีผลต่อการใช้จ่ายหรืออุปสรรคต่อการค้าโลกอย่างไร”

สิทธิกรกล่าวอีกว่า เมื่อเศรษฐกิจยังต้องเผชิญพายุหลายด้าน ต้องทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีทำบัฟเฟอร์ที่จะรับแรงกระแทกได้ เมื่อฝ่าพายุเศรษฐกิจไปได้ ก็จะเป็นบัฟเฟอร์ของประเทศด้วย จึงได้ทั้ง 2 แกน ซึ่งเอสเอ็มอีเป็นสัดส่วน 35% ในจีดีพี และสัดส่วน 70% ต่อการจ้างงาน

“เมื่อโจทย์แรก คือ ดูแลสภาพคล่อง ภาครัฐมี policy loan อัดฉีดเข้าพยุงธุรกิจต่อเนื่อง บสย.ก็ได้สินเชื่อเฟสสอง เพิ่มวงเงินจาก 1 แสนล้านบาท เป็น 1.5 แสนล้านบาท โดยยอดแสนล้านแรกคงเหลือ 2 หมื่นล้าน ได้เพิ่มอีก 5 หมื่นล้าน ทำให้กลุ่มแรกมีบัฟเฟอร์ ธุรกิจไปต่อได้ หากเป็นกรณีเศรษฐกิจฟื้นแบบ ตัวเคขาขึ้น ปรับตัวไปต่อไป แต่โจทย์ยาก หากเป็นตัวเคขาลง จะปรับอย่างไรให้เป็น V-Shape เป็นโจทย์ที่ บสย.ต้องเตรียมพร้อม เรามีคลินิกเซ็นเตอร์แก้หนี้”

“ตอนนี้มีทั้งดีมานด์และซัพพลาย ถ้าเอสเอ็มอีปรับตัวได้ก็ไปต่อ หากปรับไม่ได้จะทำอย่างไร จึงมองถึงการหาเทคโนโลยีเพื่อดึงขึ้นมา ผมมองไปถึงปีหน้าปีถัดไป ภาคท่องเที่ยวกลับมาจะเกิดช่องว่าง ยังมีเรื่องเวลาที่แรงงานคืนถิ่นแล้วจะกลับมาไม่ได้ทันที หรือ บางอย่างแทนที่ด้วยดิจิทัลได้ อาทิ ร้านค้าบางร้านปรับสั่งและส่งผ่านแพลตฟอร์มและเดลิเวอรี่ ก็เติมดีมานด์ซัพพลาย ซึ่ง PERFECT STORM ไม่แค่บัฟเฟอร์ แต่ต้องหา Autopilot ทำให้เครื่องบินฝ่าพายุ ไม่ว่าจะเจอพายุ หิมะตก ลมแรง ซึ่งเฮอริเคนเข้ามา 3 ปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้มาระดับหนึ่งแล้ว ต่อไปจะใช้บทเรียนนี้อย่างไร บสย.มีอีกหลายเรื่องที่เริ่มจากการทำดิจิทัลมาต่อยอด พร้อมกับการใช้สกุลเงินดิจิทัลเพื่อการขยายบริการในระยะเวลาอันสั้นนี้”

เอ็มดี บสย.ทิ้งท้ายด้วยว่า ทุกวันนี้เห็นคนรุ่นใหม่หรือคนที่เคยมีปัญหาช่วง 2 ปีมานี้อยากมีธุรกิจของตนเอง บสย.จะเข้าไปมีส่วนช่วย โดยสัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารภาครัฐ ธนาคารพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาคการเงิน จะแถลงโครงการ “มหกรรมแก้หนี้” ก็ต้องติดตามว่า บสย.จะมีเครื่องมือช่วยเหลือลูกหนี้และคนตัวเล็กๆ อย่างไร

สำหรับ หนังสือพิมพ์มติชน ได้จัดเวทีสัมมนา “ท้าชน PERFECT STORM ทางรอดเศรษฐกิจไทย” ระดมความรู้ทางนโยบาย ทรรศนะและความคิดเห็น จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้รู้สายงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ธุรกิจจับทิศทางจากนี้ จัดในวันที่ 29 กันยายน 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องรอยัลมณียา บอลรูม ชั้น M โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ

เปิดเวทีโดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ท่องเที่ยวไทยท้าชน PERFECT STORM”

จากนั้น “กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษหัวข้อ “โอกาส ทางรอด เศรษฐกิจไทย” ต่อด้วย เสวนาพิเศษ “Thailand New Chapter 2023” จาก 3 ผู้ทรงคุณวุฒิ นำโดย “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย “สิทธิกร ดิเรกสุนทร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ “พสุ ลิปตพัลลภ” กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน)

ปิดท้ายด้วย “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) พูดถึง “จับทิศ เศรษฐกิจ-สังคมไทย” ในพายุวิกฤต

ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ www.matichon.co.th หรือเฟซบุ๊กเพจ มติชนออนไลน์ ประชาชาติธุรกิจ และข่าวสด ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image