“คลัง” เบรก ชัชชาติ รีดภาษีที่ดิน 15 เท่า หลัง “แลนด์ลอร์ด” แสร้งปลูกกล้วย หวั่นลักลั่น ขัดกม.

“คลัง” เบรก ชัชชาติ รีดภาษีที่ดิน 15 เท่า หลัง “แลนด์ลอร์ด” แสร้งปลูกกล้วย หวั่นลักลั่น ขัดกม.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้พิจารณากรณีกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่ดินเกษตรกรรมแยกย่อยตามโซนผังเมืองรวม ได้แก่ โซนสีแดงที่ดินประเภทพาณิชยกรรม โซนสีน้ำตาลที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก โซนสีม่วงที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และโซนสีเม็ดมะปรางที่ดินประเภทคลังสินค้า ในกรณีเจ้าของนำที่ดินมาปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว เพื่อให้เข้าเกณฑ์เกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะปรับอัตราเพิ่มจากปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.01-0.1% เป็นเก็บเต็มเพดาน 0.15% หรือจากล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 1,500 บาท ในเบื้องต้นน่าจะไม่สามารถดำเนินการได้

เนื่องจากคณะกรรมการฯ มองว่าเป็นการเก็บภาษีประเภทใหม่ อาจจะขัดกับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใน 4 ประเภท ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ที่ดินใช้ประโยชน์อื่นๆ และที่ดินรกร้างว่างเปล่า อีกทั้งจะทำให้เกิดความลักลั่นของแต่ละพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตามหาก กทม. ต้องการจะเดินหน้าต่อ ก็สามารถส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อให้ตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือกทม.จะปรับอัตราจัดเก็บเพิ่มแบบเป็นขั้นบันไดก็ได้ เพราะกฎหมายสามารถให้ท้องถิ่นทำได้อยู่แล้ว เช่น ปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.01-0.1% อาจจะปรับเป็น 0.02-0.15% เป็นต้น

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หากคณะกรรมการฯไม่เห็นด้วยกับโมเดลของกทม. ถือว่าจบ เนื่องจากสิ่งที่ กทม.เสนอนั้น เพื่อต้องการจัดเก็บภาษีที่ดินเฉพาะที่ดินในโซนสีแดงกลางเมืองที่นำมาทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกกล้วย เพราะเราคิดว่าเจ้าของที่ดินไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะทำเกษตรจริงๆ และหากจะให้กทม.ปรับอัตราเป็นขั้นบันไดนั้น จะกระทบกับที่ดินเกษตรกรรมทั้งหมด รวมถึงคนที่ทำเกษตรกรรมจริงๆด้วย ซึ่งกทม.คงจะปรับแบบนั้นไม่ได้

อ่าน

Advertisement

แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกทม.ได้ยกร่างข้อบัญญัติเรื่อง กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … เพิ่มอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ประเภทอุตสาหกรรม และประเภทคลังสินค้า ตามกฎหมายผังเมืองที่ใช้ในเขตกรุงเทพฯ เป็น 0.15% ของฐานภาษี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไว้ ส่วนที่ดินนอกเหนือ 3 ประเภทดังกล่าว ใช้อัตราภาษีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาในปัจจุบัน

แหล่งข่าวกล่าวว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต สำรวจแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในที่ดินที่อยู่ในโซนสีแดงประเภทพาณิชยกรรม หรือสำรวจแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเกษตรกรรมจริงจำนวนเท่าใด เพราะเจตนารมณ์ของการยกร่างข้อบัญญัตินี้ เพื่อให้เจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง และไม่ได้ประกอบการอาชีพเกษตรกรรม เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เนื่องจากปัจจุบันมีเจ้าของที่ดินนำที่ดินมาทำเกษตรกรรมเพื่อให้เข้าเกณฑ์ภาษีที่ดินเกษตรกรรมที่จะเก็บในอัตราถูกกว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่จะต้องเสีย 0.3-0.7% และหากไม่ใช้ประโยชน์ใน 3 ปี จะต้องเสียเพิ่มอีก 0.3% ทุก 3 ปี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริหาร กทม.ได้สั่งให้สำนักงานเขต 50 แห่ง สำรวจแปลงที่ดินที่ใช้ประโยชน์เป็นเกษตรกรรมทั้งหมดในที่ดินตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือตามโซนของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ได้แก่ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (โซนสีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (โซนสีม่วง) ที่ดินประเภทคลังสินค้า (โซนสีเม็ดมะปราง) และที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (โซนสีน้ำตาล) เพื่อเป็นข้อมูลให้สำนักการคลังจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการคิดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น โดยขอให้สำนักงานเขตจัดส่งข้อมูลภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 อย่างไรก็ตามขณะนี้ ยังไม่มีสำนักงานเขตไหนส่งข้อมูลเข้ามา

“ปัจจุบันกทม.จัดเก็บรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2565 ตั้งแต่ตุลาคม 2564-สิงหาคม 2565 ได้แล้ว 12,000 ล้านบาท และมีภาคธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งขอผ่อนชำระภาษี มาอยู่พอสมควร เช่น ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้อุทธรณ์มายังกทม.ขอยกเว้นไม่จ่ายภาษีด้วย หลังปีนี้เก็บ ภาษีในอัตรา100% ซึ่งรฟท.จะต้องจ่าย 189 ล้านบาท สำหรับที่ดินอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องให้ทางคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาว่าได้หรือไม่ แต่กทม.ได้ทำหนังสือเร่งรัดรฟท.ให้มาชำระภาษีภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพราะหากเลยกำหนดจะถูกเบี้ยปรับเพิ่ม 40%ของจำนวนเงินที่ต้องชำระ ” แหล่งข่าวกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image