พายุหนี้ยังไม่อ่อนกำลัง พายุดอกเบี้ยเข้าถล่มซ้ำ โจทย์ยาก…รอรัฐงัดทุกวิธีแก้ด่วน!!

พายุหนี้ยังไม่อ่อนกำลัง พายุดอกเบี้ยเข้าถล่มซ้ำ โจทย์ยาก...รอรัฐงัดทุกวิธีแก้ด่วน!!

พายุหนี้ยังไม่อ่อนกำลัง พายุดอกเบี้ยเข้าถล่มซ้ำ โจทย์ยาก…รอรัฐงัดทุกวิธีแก้ด่วน!!

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกแม้จะผ่านจากวิกฤตโควิดได้แต่ยังคงผันผวนรุนแรง ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาตั้งเป้าหมายคุมอัตราเงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่อง และรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ต่อปี ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 แล้ว เพื่อหยุดยั้งเงินเฟ้อของประเทศ

แนวทางดังกล่าว ทำให้หลายประเทศต่างได้รับแรงกดดันจากส่วนต่างดอกเบี้ย ประเทศไทยเองก็กำลังเจอสถานการณ์ค่าเงินที่อ่อนตัวอย่างรวดเร็ว การไหลของเงินทุนต่างๆ ซึ่งจะต้องรักษาสมดุลให้ได้ เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ภายใต้สังกัด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย อีก 0.25% รวมเป็น 1.00% ต่อปี จาก 0.75% หลังจากที่ปรับขึ้นไปแล้ว 1 ครั้งในอัตรา 0.25% เช่นกัน

⦁สุดอั้น! แบงก์ขยับดอกเบี้ยตามนโยบาย
ผลจากดอกเบี้ยนโยบายที่ขยับขึ้นได้วัดใจสถานบันการเงินต่างๆ ตั้งแต่สถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และสถานบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ว่าจะพิจารณาจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

Advertisement

เพราะ ธปท.ได้พยายามเจรจาขอให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม แต่ธนาคารพาณิชย์ต่างทนไม่ไหว ประกาศปรับขึ้นกันเป็นรายวัน โดยธนาคารกรุงเทพ ประเดิมเจ้าแรกเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในส่วนของเงินกู้ 0.30-0.40% และเงินฝาก 0.15-0.50% ต่อแถวมาด้วยธนาคารกสิกรไทย ปรับขึ้นดอกเบี้ยในส่วนเงินฝาก 0.10-0.50% และเงินกู้เพิ่ม 0.25% แบบเฉพาะกลุ่มรายใหญ่ ล่าสุดคือ ธนาคารทหารไทย (ทีทีบี) ก็เพิ่มดอกเบี้ยแล้วเช่นกัน และคาดว่าจะมีรายอื่นๆ ตามมาแน่

⦁แบงก์คนอยากมีบ้านย้ำตรึงดอกกู้ถึงสิ้นปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีสถาบันการเงินของรัฐ อย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ประกาศตรึงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี ทำคนผ่อนบ้านอุ่นใจ โดย ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร ธอส. ยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นธอส.จะยังคงไว้ระดับเดิมถึงสิ้นปี 2565 โดยคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน และการเงินของ ธอส.เตรียมประชุมเร่งด่วน พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทต่างๆ ของธนาคาร อาทิ ประเภทออมทรัพย์ และเงินฝากประจำบางประเภท เพื่อสนับสนุนการออมภาคประชาชน และรองรับการปล่อยสินเชื่อของ ธอส.คาดว่า ณ สิ้นปี 2565 จะปล่อยได้สูงถึง 3 แสนล้านบาท โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุดต่อไป

“หากขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ผลกระทบนี้จะไปเกิดกับลูกค้าที่ขอกู้ใหม่ และลูกค้าดอกเบี้ยลอยตัวบางส่วนซึ่งมีจำนวนไม่มาก” กรรมการผู้จัดการ ธอส.ระบุ

Advertisement

กรรมการผู้จัดการ ธอส.ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ระหว่างรับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารวงเงินกู้รวมประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จำนวนนี้มีประมาณ 2 หมื่นล้านบาทที่อาจเริ่มผ่อนชำระไม่ปกติแต่กลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำหนดเป็นอัตราคงที่ นอกจากนี้ ธนาคารจะยังคงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้มารองรับ โดยสามารถเลือกผ่อนชำระ 25% 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ

⦁นักวิชาการกังวลเศรษฐกิจเข้าลูปถดถอย
ขณะที่ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงว่า ตามปกติจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นคนทั่วไปจะไม่ถอนเงินฝากออกมาใช้ ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจฝืดลง ขณะเดียวกันผู้ขอเงินกู้ก้อนใหม่ต้องเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้กู้น้อยลง

ทั้งนี้ แม้จะมีปัญหาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้ามาช่วงปลายปี 2565 แต่จะมีช่วงเวลาในการส่งผ่าน เพราะดอกเบี้ยของเงินฝากเงินกู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะไปกระทบกับการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต อีกส่วนคือต่อให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 1 ครั้ง 0.25% แต่ ธปท.ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ให้ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว เพราะฉะนั้นผลกระทบจริงจะลดลงกว่าเดิม ส่วนขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้แล้ว ธปท.จะวางมาตรการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว คงไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิดมีข้อมูลฐานะของครัวเรือนของไทยแย่ลง สถานะเครดิตของคนไทยมีปัญหาไม่ชำระหนี้หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้น ปัญหานี้หากให้ประชาชนแก้หนี้ด้วยตนเองไม่ใช่เรื่องง่าย ล่าสุดภาครัฐได้เดินหน้ามหกรรมร่วมใจแก้หนี้ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ เมื่อปลดหนี้ มีรายได้สูงขึ้นสามารถเอาเงินไปหักหนี้ หักส่วนต่างและดอกเบี้ยได้

“กลไกมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ที่ประสานเจ้าหนี้อย่างสถานบันการเงิน และที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ กับลูกหนี้ มาเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ครอบคลุมสินเชื่อหลายประเภท จึงตอบโจทย์อย่างมาก” นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอกล่าว และว่า คนไทยก่อหนี้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้จ่ายส่วนบุคคล บัตรเครดิต การซื้อรถจักรยานยนต์ รถยนต์ หรือกระทั่งสินเชื่อเพื่อการศึกษา ปัจจุบันมีหนี้ประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ถือว่าสูง

ในทางเศรษฐศาสตร์แบ่งหนี้ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ หนี้เพื่อการบริโภค เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต เป็นต้น ใช้ซื้อของกินของใช้และท้ายที่สุดก็หมดไป และหนี้เพื่อการลงทุน อาทิ สินเชื่อรถยนต์ เพื่อการประกอบอาชีพ สินเชื่อการศึกษา อนาคตสิ่งที่ลงทุนมีโอกาสสร้างรายได้เป็นสินเชื่อที่มีประเด็นน้อยกว่าสินเชื่อเพื่อการบริโภค

⦁ดบ.ขาขึ้นกดดันลูกหนี้เปราะบางกู้ก้อนใหม่
นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอให้มุมมองทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง ถือเป็นเรื่องน่ากังวล รัฐบาลต้องดูแลใกล้ชิด เพราะบุคคลนั้นเป็นหนี้ จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย ท้ายที่สุดอาจหันไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ แบบนี้จะเจอปัญหาก่อหนี้ใหม่ไม่รู้จบ

พายุหนี้ยังไม่อ่อนกำลังลง แต่กลับต้องเจอพายุดอกเบี้ยถาโถมซ้ำอีก ประชาชนจะรับไหวแค่ไหน เป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องเข้าช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image