ประธานทีดีอาร์ไอ ตะเพิด 3 กสทช. ลาออก อัดเละไร้สำนึก โหวตควบรวมทรู-ดีแทค

ประธานทีดีอาร์ไอ ตะเพิด 3 กสทช.ลาออก อัดเละไร้สำนึก โหวตควบรวมทรู-ดีแทค เอื้อทุนผูกขาด-ลิดรอนสิทธิ-ลดทางเลือก ปชช.

จากกรณี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ประชุม กสทช.มีมติ 3 ต่อ 2 เสียงรับทราบการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เพื่อเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

สำหรับกรรมการ กสทช. 2 เสียงที่ลงมติเห็นชอบกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ ส่วน กสทช. 2 เสียงที่ไม่เห็นชอบ ประกอบด้วย นายศุภัช ศุภชลาศัย และนางพิรงรอง รามสูต ขณะที่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. งดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน โดยจะขอทำบันทึกในภายหลัง

ทั้งนี้ เนื่องจากการลงมติที่ประชุมมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช.ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช.พ.ศ.2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

อ่านข่าว:

Advertisement

ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich โดยระบุว่า

มติอัปยศของ กสทช.ในการอนุญาตให้ควบรวมทรูและดีแทค
สำหรับผมแล้ว การลงมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมาของ กสทช. ซึ่งยอมให้ทรูและดีแทคควบรวมกัน โดยอ้างว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการห้ามการควบรวมเป็น “มติอัปยศ” ของเสียงข้างมากโดยแท้ เนื่องจากเป็นมติที่ กสทช.จงใจตัดอำนาจของตน ไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนอย่างร้ายแรง เพราะทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยมีการผูกขาดมากขึ้น

ผลการศึกษาในภาพรวมโดยนักวิชาการไทยหลายสถาบันชี้ว่า ราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงขึ้น 2-23% ในกรณีที่ไม่มีการสมคบราคากัน (ฮั้ว) ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่ แต่หากมีการฮั้วราคากัน อัตราค่าบริการอาจสูงขึ้นถึง 120-244% และ GDP ของประเทศจะหดตัวลง 0.5-0.6% เช่นเดียวกันกับผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศของ กสทช.เองที่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ไม่ควรอนุญาตให้มีการควบรวม

ผลการลงมติครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ผมเองได้เคยคาดการณ์มาแล้วว่าจะมี “การเล่นกลทางกฎหมาย” ว่า กสทช.ไม่มีอำนาจห้ามควบรวม ตามที่ผู้บริหารสำนักงาน กสทช.และ กสทช.บางคนมีท่าทีชี้นำมาโดยตลอด แม้ว่าศาลปกครองกลางได้เคยพิจารณาในคดีที่เกี่ยวข้องแล้วว่า กสทช.มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ควบรวม หรือไม่ให้ควบรวมก็ได้

Advertisement

ที่อาจจะแปลกใจอยู่บ้างก็คือ มี กสทช.บางท่านไม่กล้าลงมติ ซึ่งอาจเกิดจากการกลัวความรับผิดทางกฎหมาย เพราะหากลงมติไปว่า กสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณาให้ควบรวมก็อาจจะเป็นการกลับความเห็นของตน ซึ่งแต่เดิม กสทช.ทั้งองค์คณะเคยมีมติ 3-2 ว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ก็ได้ เมื่อครั้งที่ชี้แจงต่อศาลปกครองกลาง

อย่างไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่าการไม่ลงมติครั้งนี้จะทำให้ท่านรอดพ้นจากความรับผิดชอบไปได้ ซึ่งหากมีการฟ้องร้องคดีว่าท่านปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็น่าสนใจว่าจะมีคำตัดสินออกมาเป็นบรรทัดฐานต่อไปอย่างไร

อ่านข่าว:

ผมขอตำหนิ กสทช.เสียงข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มาจากตัวแทนผู้บริโภค และผู้ที่มาจากตัวแทนของผู้ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะท่านทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการถูกกลุ่มทุนผูกขาดเอาเปรียบ และประชาชนถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพจากการมีทางเลือกที่ลดลง เช่นเดียวกัน ผมขอตำหนิ กสทช.ท่านที่ไม่กล้าแม้แต่จะออกเสียงลงมติตามหน้าที่ ทั้งที่มีเวลาให้ศึกษาประเด็นทั้งหลายมานานพอ ผมอยากเห็นทั้งสามท่านนี้ลาออกจากตำแหน่ง แม้จะคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้

ในขณะเดียวกัน ผมขอแสดงความชื่นชม กสทช.เสียงข้างน้อย คือ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ที่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และไม่อยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน

อ่านข่าว:

  • เงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ไม่มีผลลดความเสียหาย

เมื่อยอมให้เกิดการควบรวมแล้ว กสทช.ก็ได้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะไว้ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันผลกระทบในด้านลบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวม ทั้งที่มาตรการเหล่านี้แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้บริโภคเลย กล่าวคือ

อ่านข่าว: เปิดมาตรการเข้ม ควบรวม‘ทรู-ดีแทค’

  • การให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันลดราคาเฉลี่ยลง 12% ใน 90 วันหลังควบรวม เป็นการลดราคาที่น้อยเกินไป เพราะการศึกษาชี้แล้วว่า ราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงได้ขึ้น 120-244% ในกรณีที่มีการสมคบราคากัน (ฮั้ว) ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่ นอกจากนี้โดยทั่วไป ราคาค่าบริการโทรคมนาคมในตลาดที่มีการแข่งขันก็จะลดลงอย่างต่อเนื่องตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว
  • การสั่งให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันส่งข้อมูลต้นทุน และให้มีที่ปรึกษาไปตรวจสอบต้นทุน แสดงให้เห็นว่า กสทช.อนุญาตให้มีการควบรวม โดยไม่ทราบต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งหมายถึงการไม่ได้ทำหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างที่ควรจะเป็น
  • การให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันคงแบรนด์ที่ให้บริการแยกจากกันเป็นเวลา 3 ปี ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการเลย และกลับทำให้ประโยชน์อันน้อยนิดจากการควบรวมไม่เกิดขึ้น
  • การจัดให้มีผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่าย (MVNO) เข้ามาแข่งขันไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอิ่มตัวแล้ว และมาตรการที่กำหนดขึ้นก็แทบไม่แตกต่างจากมาตรการเดิมที่มีอยู่
  • การให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการใช้คลื่นความถี่อย่างเคร่งครัด จะเป็นได้อย่างไรในเมื่อ กสทช.ไม่ได้สั่งให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันคืนคลื่นความถี่ที่ถืออยู่เกินกว่าที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล ซึ่งก็มีฐานะเป็น “กฎหมาย” ที่ออกโดย กสทช.เอง
  • มาตรการอื่นๆ เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันรักษาคุณภาพบริการ และการให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ก็เป็นมาตรการที่มีอยู่เดิมแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการบังคับใช้ ครั้งนี้ก็เป็นเพียงการเอามาตรการเดิมมาเติมคำว่า “อย่างเคร่งครัด” เข้าไป ซึ่งเป็นการบอกในทางอ้อมว่า ที่ผ่านมา กสทช.ไม่ได้บังคับให้เกิดการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ “อย่างเคร่งครัด” เลย
  • การกำหนดให้เอกชนเสนอ “แผนพัฒนานวัตกรรม” ที่เป็น “รูปธรรม” ขึ้นมา ก็ชี้ให้เห็นว่าการกล่าวอ้างของผู้ประกอบการว่าการควบรวมจะทำให้เกิดนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน ที่สำคัญการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมของกลุ่มสตาร์ตอัพได้อย่างไร?
ดังนั้น ประชาชนจึงไม่อาจคาดหวังได้ว่า การควบรวมนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนจากการมีมาตรการต่างๆ ที่ กสทช.กำหนดขึ้น
  • ประชาชนควรดำเนินการอย่างไรต่อไป?

ผมเคยกล่าวมาแล้วว่า คงมีแต่สำนึกของ กสทช. และพลังการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชนเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมในครั้งนี้ไปได้ ในเมื่อ กสทช.ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงสำนึกต่อการทำหน้าที่ในการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ผมคิดว่า ประชาชนโดยเฉพาะองค์กรผู้บริโภคควรดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลยกเลิกมติของ กสทช.ที่ปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวอย่าให้มีการควบรวมก่อนมีคำตัดสิน
  2. ดำเนินการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่ กสทช.อนุญาตให้ควบรวมแล้วมีผลทำให้บริการโทรคมนาคมซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จะมีค่าบริการที่สูงขึ้นในอนาคตและเป็นภาระต่อประชาชนตามที่มีผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ไว้ ซึ่งจะทำให้การกระทำของ กสทช.ขัดต่อมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญก็กำลังพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าโดยอ้างมาตราเดียวกันอยู่
  3. ร่วมมือกับองค์กรด้านต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.
  4. เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ ส.ส.ตรวจสอบ กสทช.อย่างเข้มข้น และพิจารณาแก้ไขกฎหมาย กสทช.ครั้งใหญ่เพื่อปฏิรูป กสทช. และสำนักงาน กสทช.ให้มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อประชาชน
  5. รณรงค์ให้ประชาชนและผู้บริโภคแสดงออก โดยงดซื้อสินค้าและบริการจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทุนผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ อาหารและอาหารสัตว์ อินเตอร์เน็ต ระบบการชำระเงินและกิจการอื่นๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image