รัฐแจกของขวัญปีใหม่2566 หอค้า5ภาค สะท้อน ปังสุด ‘อุดรายจ่าย & เพิ่มรายได้’

รัฐแจกของขวัญปีใหม่2566 หอค้า5ภาค สะท้อน ปังสุด ‘อุดรายจ่าย & เพิ่มรายได้’

ก่อนเข้าเทศกาลปีใหม่ของทุกปี เป็นเรื่องปกติที่ทุกภาคส่วนทั้งที่เป็นผู้ให้และผู้รับ ต่างคิดๆ ว่าจะจัดเตรียมอะไรมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่ในฐานะผู้ให้ ขณะที่ผู้รับก็นึกฝันสิ่งที่อยากได้รับ ยิ่งในปีใหม่ 2566 ที่จะถึงนี้ ความคาดหวังอาจแตกต่างกับปีใหม่ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะภาคประชาชน และภาคธุรกิจ อยู่กับภาวะเหนื่อยยาก จมปัจจัยรุมเร้ามากมาย การจะใช้เวลาหรือเงินทองเพื่อฉลองปีใหม่น้อยกว่าในอดีต แม้ทุกคนมองว่า บรรยากาศเข้าปีใหม่ 2566 จะดีกว่าปี 2563-65แน่นอน

“มติชน” จึงได้สำรวจความเห็นภาคเอกชนทั่วประเทศ ผ่านหอการค้าไทย 5 ภาค ซึ่งหอการค้าแต่ละภาค สะท้อนความต้องการและข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลที่แตกต่างกันไว้อย่างน่าสนใจ

Advertisement

ปรัชญา สมะลาภา
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก

“ของขวัญปีใหม่นี้ ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ อยากเห็นรูปธรรมของการฟื้นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังจากที่อีอีซีซึมตัวในช่วงโควิดระบาด อยากเห็นการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุน ขณะเดียวกัน อยากให้ช่วยเหลือลดภาระประชาชนและเอสเอ็มอี ที่ตอนนี้เจอเรื่องภาระค่าใช้จ่ายสูง จากต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาพลังงาน และภาระด้านภาษี ซึ่งสวนทางกับรายได้ยังไม่เท่าเดิม รัฐควรออกมาตรการลดภาระผ่านลดการจัดเก็บภาษีหรือลดหย่อนภาษี เช่น ภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดหย่อนไม่ถึง 90% ก็ได้ เหลือลดหย่อน 50% ไปอีก 1-2 ปีจนกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว หรือลดการจ่ายประกันสังคม ที่สำคัญควรเร่งประกาศก่อนช่วงปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญและกำลังใจให้ประชาชน

อีกเรื่องอยากเห็น คือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศและต่างประเทศได้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจและการบริโภคไม่ค่อยดี รัฐควรกระตุ้นหลายทาง แม้ตอนนี้รัฐประกาศว่าส่งเสริมเอสเอ็มอีหรือผู้มีรายได้น้อยให้แข่งขันได้ เรื่องเติมทุนก็พูดกันมาตลอด แต่ทางปฏิบัติไม่ได้เห็นมากนัก ซึ่งหลายเรื่องที่หน่วยงานรัฐกำลังศึกษาเพื่อลดกฎระเบียบหรือปรับระเบียบใหม่ แต่ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะประกาศใช้ช่วงใด อย่างภาคท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว แต่ติดเรื่องเวลาและขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตเปิดให้บริการโรงแรมหรือที่พัก ทำให้โรงแรมหรือบริการที่พักอยู่นอกระบบเกิน 50% และไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการรัฐ “เราเที่ยวด้วยกัน” จึงอยากให้รัฐเร่งรัดออกใบอนุญาตให้ง่ายและเร็วขึ้น รวมถึงเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อ หลายเรื่องเป็นเรื่องวนไปวนมาพูดกันมาตลอด อยากให้ปีใหม่นี้รัฐประกาศออกมาเลย หากรวมกับภาคส่งออก ท่องเที่ยว และแผนงานชัดเจนการผลักดันอีอีซีจะช่วยสร้างบรรยากาศปีใหม่นี้คึกคักได้อีกมาก เชื่อว่าจีดีพีภาคตะวันออกทั้งปีขยายตัวได้ 4-5%”

Advertisement

สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“อีสานปีนี้ประสบภัยพายุและน้ำท่วมหนัก เบื้องต้นเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทำให้เสียโอกาสพึงมีพึงได้ ต่อการทำธุรกิจ และรายได้ประชาชนเสียหายไปกับภัยธรรมชาติครั้งนี้ อยากให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือเยียวยา จัดสรรงบประมาณอัดฉีดทั้งแบบช่วยเหลือ เช่น เงินกู้พิเศษ ชดเชย และมาตรการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกด้านคือความยั่งยืน จากปัญหาต่างๆ ที่ยังเกิดซ้ำซาก ทำให้เสียโอกาส ดังนั้น รัฐควรจับเข่าคุยกับเอกชน หารือการฟื้นเศรษฐกิจฐานราก บริหารจัดการน้ำในอนาคต ยกระดับมูลค่าภาคเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถ หากทำอย่างนี้ได้จะลดภาระรัฐบาลในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ ในเร็วๆ นี้ หอการค้าภาคอีสานจะหารือกับทุกภาคส่วน เพื่อจะทบทวนเรื่องต่างๆ โดยจะจัดอันดับความสำคัญใหม่ หลังจากเจอน้ำท่วม โควิดผ่านพ้นไป เพื่อให้เกิดการลงลึกในทางปฏิบัติได้ทันที เช่น ใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน การสร้างจุดขายภาคเกษตร ดันไทยศูนย์กลางผลิตและป้อนอาหารโลก

สำหรับภาคประชาชน รัฐควรช่วยเหลือเติมเรื่องเยียวยา ฟื้นฟู สนับสนุนการเข้าถึงเงินทุน ลดกติกามากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้การแก้ปัญหาปากท้อง และฟื้นฟูธุรกิจและรายได้ประชาชน เป็นอันดับแรกๆ ที่รัฐต้องเข้าดูแล เห็นด้วยที่รัฐจะออกมาตรการลดภาระและกระตุ้นใช้จ่าย เรื่องที่เสนอดังกล่าว หากรัฐประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ ย่อมมีผลทางจิตวิทยาในการเพิ่มบรรยากาศปีใหม่ให้คึกคักไปอีก ซึ่งเราจะผลักดันอีสาน เป็นบ้านหลังที่สองหรือที่พักประจำของคนต่างชาติ จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้จีดีพีภาคอีสานขยายตัวไม่ได้น้อยกว่าภาคอื่นๆ เติบโตเกิน 3%”

ธวัชชัย เศรษฐจินดา
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง

“ของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน อยากให้รัฐดูแลเรื่องค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และราคาสินค้า ที่ยังสูงมาก ยิ่งเดือนตุลาคมนี้ มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน มีผลต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อเพิ่มสูงไปอีก แต่ประชาชนยังลำบากกับรายได้ที่ไม่เหมือนเดิม ในภาคธุรกิจเอง แค่ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว ก็ปรับตัวได้ลำบากในเรื่องบริหารต้นทุน จึงเห็นด้วยที่รัฐจะใช้ช่วงปีใหม่นี้ ใช้มาตรการกระตุ้นใช้จ่าย ผ่าน “ช้อปดีมีคืน” และต่อโครงการ “คนละครึ่ง” โดยต้องคิดและประกาศให้ทันเวลา อย่างปีใหม่ที่ผ่านมากว่ารัฐประกาศก็เดือนกุมภาพันธ์ เวลาเหมาะสมจะใช้จ่ายหมดลงแล้ว ทำให้เสียของปีนี้น่าจะประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ และเริ่มใช้ตั้งแต่พฤศจิกายนถึงธันวาคม น่าจะเหมาะสม

ภาคท่องเที่ยวดูดีขึ้นมาก เห็นต่างชาติและคนไทยเดินทางก็จริงแต่ยังเป็นการเที่ยวช่วงหยุดยาว และคนไทยที่มีรายได้สูงบินไปเที่ยวต่างประเทศกันมาก ส่วนคนไทยรายได้ระดับกลางและล่างก็ติดเรื่องราคาน้ำมันและห้องพักราคาสูงขึ้น จำนวนจึงน้อยกว่าที่ควรเป็น การกระตุ้นเที่ยวไทยก็ยังไม่เห็น ส่วนจะอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติมาช่วย แม้จะเข้ามาแล้วแต่ก็น่ารวมทั้งปี 20 ล้านคน จะกลับเท่าปีก่อนโควิดระบาดที่ 40 ล้านคนคงอีกหลายปี ดังนั้น ภาคท่องเที่ยวยังต้องพึ่งพาในประเทศ ก็อยากให้รัฐหนุนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อกระตุ้นดึงต่างชาติหรือคนไทยเที่ยวไทย
ทั้งงบประมาณเพื่อประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น อย่างฮ่องกง รัฐบาลแจกตั๋วบิน 5 แสนใบ ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะภาคท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จีดีพีภาคกลางปีนี้จะขยายได้ 3% หากรัฐมอบของขวัญออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและใช้จ่ายปลายปี จีดีพีน่าจะโตได้ถึง 3.5% บรรยากาศภาคกลางเริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่กลางปีแล้ว แต่เป็นการฟื้นตัวแบบเคเชฟ นั่นคือฟื้นตัวแค่บางธุรกิจบางกลุ่ม แบบกระจุกตัว อีกทั้งปัญหาขาดคนมากในเวลานี้ เป็นเรื่องที่รัฐต้องเร่งแก้ไข ที่สำคัญรัฐควรใช้โอกาสนี้ปรับโครงการเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เรารู้ปัญหา และอะไรแข่งขันไม่ได้ ก็ควรเร่ง ตอนนี้ประเทศในอาเซียนเร่งมาก ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ถึงเวลาที่จะเอาจริงกับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ หอการค้าทั่วประเทศ เน้น 3 ด้าน คือ เพิ่มการค้าการลงทุน ยกระดับภาคเกษตร และกระตุ้นการท่องเที่ยวทุกจังหวัด เตรียมคิกออฟจูงใจเที่ยวอยุธยาก่อนปีใหม่นี้”

สมบัติ ชินสุขเสริม
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ

“เรื่องใกล้ตัวภาคเหนือมากสุด อยากให้รัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว ผ่านโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ที่ยังไม่ชัดเจนว่าทำเมื่อไหร่ จะทำรัฐก็ควรประกาศแล้ว เพราะตอนนี้คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นๆ เพราะหลายประเทศราคาถูก ผ่อนคลายกฎระเบียบ เชื่อว่าเมื่อมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยรัฐสนับสนุน 60% ประชาชนจ่ายเอง 40% เงินไม่เกิน 3 หมื่นบาท/ราย จะช่วยสกัดคนไทยไหลออกไปเที่ยวต่างประเทศ ส่วนของขวัญระยะยาว ภาคเหนือที่เป็นแหล่งต้นน้ำ รัฐควรว่าจ้างซ่อมแซมหรือเตรียมอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในหน้าแล้งปีหน้า ตอนนี้อ่างเก็บน้ำในภาคเหนือหลายแห่งต้องลอกสิ่งอุดตันและซ่อมแซม เพื่อกักน้ำที่ไหลลงภาคกลางไว้ใช้ได้ จะไม่กระทบต่อภาคเกษตรในปีหน้า ที่ไม่รู้ว่าจะแล้งหรือขาดน้ำแค่ไหน ขณะเดียวกัน อยากให้นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะทำงานและเป็นประธานในการผลักดันเขตเศรษฐกิจภาคเหนือ ที่เราผลักดัน 4 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน รวมถึงเร่งเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ควรเกิน 2% ต่อปี จากวันนี้เฉลี่ยสูงถึง 6% ต่อปี บรรยากาศปีใหม่ในไทยก็ไม่น่าจะคึกคักมากนัก ในแง่การใช้จ่ายจริง และจีดีพีภาคเหนือน่าจะขยายตัวแค่ 3%”

วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้

“โควิดระบาดทำให้ภาคใต้ลำบากมาก ธุรกิจเสียหายมาก จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปหมด แม้ตอนนี้ฟื้นตัวแต่ยังไม่เท่าก่อนปี 2562 ของขวัญที่อยากเห็นคือ ผลักดันโครงการซอฟต์โลนดอกเบี้นต่ำอย่างจริงจัง แม้รัฐประกาศช่วยแต่ทางปฏิบัติปล่อยกู้เล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ประชาชนและธุรกิจยังเหนื่อย เงินเก่าหมด รายได้ใหม่ก็ไม่เท่าเดิม หนี้ยังมีอยู่ แบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้นอีก ตอนนี้เป็นการทำกินแบบเดือนชนเดือน ประชาชนจะใช้จ่ายเพิ่มหรือธุรกิจขยายตัวก็ไม่ได้เหมือนก่อน

ดังนี้ สิ่งที่เสนอรัฐ คือ ขอให้จัดตั้งกองทุนซอฟต์โลนที่รัฐบาลค้ำประกันเอง 2-3 แสนล้านบาท ช่วยรับซื้อหนี้กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ติดบูโรในช่วงโควิด จนกว่าเขาก็จะมีรายได้เลี้ยงตัวได้เอง รวมถึงลงเงินพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ปีละ 1 แสนล้าน ต่อเนื่อง 3 ปี

จีดีพีภาคใต้น่าจะโตได้ 3% การท่องเที่ยวเริ่มกลับมา แต่ยังอยู่ในกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ 4-5 ดาว แต่โรงแรมเล็กๆ ยังไม่ดี”

โดยสรุป เสียงสะท้อนจาก 5 ภาค ของขวัญที่อยากได้อยากเห็น ปังที่สุดรับปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นอะไร “ต้องให้ไว และเข้าถึงได้จริง”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image