จอดป้ายประชาชื่น : ธุรกิจรับพิษต้นทุนงอก

จอดป้ายประชาชื่น : ธุรกิจรับพิษต้นทุนงอก เศรษฐกิจไทย

จอดป้ายประชาชื่น : ธุรกิจรับพิษต้นทุนงอก

เศรษฐกิจไทยโค้งไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 แม้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่หลายธุรกิจมีโจทย์ท้าทายให้ต้องปรับตัวตลอดเวลา และปัญหาหนักอกคงหนีไม่พ้น “ต้นทุน” ที่เป็นแรงกระตุ้นให้ทุกธุรกิจต้องรัดเข็มขัดให้ดี

นับเป็นปีที่ไม่ง่ายสำหรับภาคเอกชนที่เผชิญปัญหารอบด้าน หลังตัวการหลักอย่างวิกฤต “เงินเฟ้อ” สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง ซ้ำร้ายในเดือนกันยายน มีการปรับค่าไฟฟ้าจาก 4 บาท เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ต่อด้วยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก 5% ในเดือนตุลาคม รวมถึงไทยก้าวสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1%

ล่าสุด ธปท.พิจารณาเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นจึงกลับมาเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่อัตรา 0.46% ต่อปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยช่วงเกิดโควิดปี 2563-2565 ได้ลดอัตรานำจ่ายลงเหลือ 0.23% เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว

Advertisement

เรื่องนี้ภาคเอกชนอย่าง วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า หาก ธปท.เรียกเก็บ FIDF ในอัตราเดิมที่ 0.46% ธนาคารต่างๆ อาจส่งผ่านต้นทุนไปสู่ลูกค้าด้วยการปรับดอกเบี้ย ทำให้ผู้ประกอบการมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น หลังจากแบกรับต้นทุนที่ปรับขึ้นทั้งค่าไฟฟ้าและค่าแรงขั้นต่ำ ขณะนี้ขึ้นอยู่กับธนาคารจะสามารถควบคุมต้นทุน หรือช่วยผู้ประกอบการได้มากน้อยแค่ไหน

“ขณะเดียวกัน ถ้ารัฐดูแลได้ก็จำเป็นต้องทำมาตรการ อาทิ การปล่อยสินเชื่อในระดับต้นทุนที่ไม่สูงเกินไปให้กับผู้ประกอบการ ให้ธุรกิจเดินต่อได้ในภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าปกติ ถ้าไม่มีเงินสนับสนุนเลย ธุรกิจจะไปต่อยาก จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเงินสำคัญที่สุด” วิศิษฐ์ทิ้งท้าย

โจทย์ใหญ่ของธุรกิจฝากความหวังไว้ที่รัฐกับการหาทางออกให้ได้ในเศรษฐกิจยุคนี้!

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image