จอดป้ายประชาชื่น : ขึ้นค่าโดยสาร…ค่าครองชีพพุ่ง

ขึ้นค่าโดยสาร…ค่าครองชีพพุ่ง

ก้าวเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2565 แล้ว ถือได้ว่าเป็นปีที่ทุกภาคส่วนล้วนแต่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ประชาชนเริ่มชินกับการอยู่ร่วมกับโรคนี้แล้ว แต่ไทยรวมถึงทั่วโลกยังต้องเผชิญกับปัจจัยอื่นๆ อาทิ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่กระทบราคาพลังงาน ดันเงินเฟ้อ กดดันดอกเบี้ยขึ้นทั่วโลก

จากผลกระทบดังกล่าวเป็นเหตุให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถสาธารณะได้ขอให้รัฐบาลไฟเขียว ปรับขึ้นค่าตั๋วเดินทางเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่ต้องรับมือเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางมีมติให้ปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทาง หมวด 2 และหมวด 3 อัตรากิโลเมตร (กม.) ละ 5 สตางค์ มีผลเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 34.99 บาท แต่ราคาค่าโดยสารยังคิดต้นทุนน้ำมันลิตรละ 27.09 บาทเท่านั้น

ตามด้วย บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ได้มีการปรับขึ้นค่าเรือโดยสาร ปรับราคาขึ้นจากพิษน้ำมันอีกระยะละ 1 บาท ค่าโดยสารเป็น 12, 14, 16, 18, 20, 22 ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ส่วนราคาการให้บริการเดิมก่อนปรับขึ้นคือ 9-19 บาท ใช้เกณฑ์ดีเซล 31.01-33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับเรือข้ามฟากที่มีการปรับขึ้นราคาเช่นกัน โดยปรับขึ้นเฉลี่ย 50 สตางค์ต่อเที่ยว

Advertisement

ล่าสุด ปี 2566 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการบีทีเอส เตรียมปรับขึ้นราคาค่าโดยสารในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กม. 24 สถานี ได้แก่ สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ จากราคา 16-44 บาท ปรับเป็น 17-47 บาทอีกด้วย

ยังไม่ผ่านพ้นปี 2565 ค่าใช้จ่ายในปี 2566 ก็มาจ่อถึงหน้าบ้านแล้ว คงต้องติดตามว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะงัดมาตรการใดออกมาช่วยประชาชนให้กระเป๋าไม่ฟีบไปกว่านี้ รอติดตาม…

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image