‘กกพ.’ แจงขึ้นค่าไฟคนจน เหตุรัฐไม่ให้งบ ด้าน ‘กบง.’ โต้เพราะดองความเห็น ทำงบสะดุด

‘กกพ.’ แจงขึ้นค่าไฟคนจน เหตุรัฐไม่ให้งบ ด้าน ‘กบง.’ โต้เพราะดองความเห็น ทำงบสะดุด

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงมาตรการช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบางใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 19.66 ล้านราย แบ่งเป็น ผู้ใช้ตั้งแต่ 1-150 หน่วย ได้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย และจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่ 151-300 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์ต่อหน่วย วงเงินช่วยเหลือประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการช่วยกลุ่มเปราะบางลดลง และยังเลิกช่วยกลุ่มผู้ใช้ตั้งแต่ 301-500 หน่วยผ่านส่วนลด 15-75% ว่า

แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของกกพ.จริง เนื่องจากรัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณสนับสนุน หากต้องการจะช่วยทุกกลุ่มแบบเดิม คือ งวดกันยายน-ธันวาคม 2565 ที่ให้กลุ่มผู้ใช้ 1-300 หน่วย ได้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย หรือตรึงค่าไฟเท่าเดิม 3.7 บาทต่อหน่วย และให้กลุ่ม 301-500 หน่วยได้ส่วนลด 15-75% รวมทั้งหมด 21.8 ล้านครัวเรือน จะต้องใช้เงินสูงถึง 9,700 ล้านบาท แต่รัฐไม่มีการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ให้กกพ.ดำเนินการ ดังนั้น จึงลงตัวที่แนวทางปัจจุบัน เพราะใช้งบประมาณ 7,400 ล้านบาท คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สนับสนุน 4,000 ล้านบาท และงบกลางอีก 3,400 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: คนจนกระอัก ‘กกพ.’ ซุ่มปรับสูตรขึ้นค่าไฟกลุ่มเปราะบาง ใช้ 151-300 หน่วย

“ปัญหาด้านงบประมาณคือ ตัวแปรสำคัญทำให้มาตรการช่วยค่าไฟเปลี่ยนไปจากเดิม ช่วยลดลง โดยในส่วนของปตท.นั้นได้เงินมาเพียง 4,000 ล้านบาทจากโรงแยกก๊าซ ส่วนอีก 2,000 ล้านบาทเป็นมูลค่าของก๊าซที่ไม่ผ่านโรงแยก ถามว่าก๊าซนั้นเป็นของใคร ของปตท. หรือของประชาชน ถ้าจำเป็นต้องดึงส่วนนี้มาจริงๆ รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)

Advertisement

ควรมีมติชัดเจนว่าให้นำก๊าซที่ไม่ผ่านโรงแยกมาใช้ได้ เพราะมติกพช.เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือการขอความอนุเคราะห์ปตท. คือขอบริจาค ไม่ใช่การสั่งให้เอาเงินมาช่วยประชาชนโดยตรง ปตท.จึงใช้วิธีแยกเงินเป็น 2 ส่วน คือ เงินจากโรงแยกก๊าซ 4,000 ล้านบาท และนำก๊าซที่ไม่ผ่านโรงแยกมาช่วย คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกพ.เสนอแนวทางการช่วยค่าไฟ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ลดค่าไฟเช่นเดียวกับงวดตุลาคม-ธันวาคม 2566 ใช้วงเงิน 9,700 ล้านบาท ช่วย 21.8 ล้านครัวเรือน 2.ช่วยกลุ่ม 150 หน่วยแรกเท่าเดิมและปรับปรุงกลุ่ม 151-500 หน่วย วงเงิน 8,000 ล้านบาท ช่วย 21.8 ล้านครัวเรือน 3.ช่วยเฉพาะ 300 หน่วยแรก วงเงิน 7,500 ล้านบาท ช่วย 19.6 ล้านครัวเรือน แล 4.ช่วยครึ่งหนึ่งของกรณีศึกษา 1 วงเงิน 4,800 ล้านบาท ช่วย 21.8 ล้านครัวเรือน

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) แจ้งว่า ความเห็นของกกพ.ที่ระบุว่า ข้อเสนอของปตท.ที่ให้เพิ่มการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยโดยไม่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (bypass gas) แทนการจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ตามกฎหมายไม่น่าจะสอดคล้องกับมติกพช. เพราะเป็นการลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติไปยังผู้ใช้ก๊าซทุกราย ไม่ได้เจาะจงกลุ่มเปราะบางโดยตรงนั้น เข้าใจว่าเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่กกพ.ยึดถือ

Advertisement

แต่อีกมุมหนึ่งอยากให้มองว่า เป้าหมายของนโยบายลดค่าไฟนี้ ทำเพื่อช่วยประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ในช่วงที่คนไทยกำลังเผชิญกับค่าครองชีพที่พุ่งสูง ในภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว จึงน่าจะทำได้ทันที และไม่ต้องเสนอกพช.ให้พิจารณาอีก

รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนี้ตามช่วงเวลาในการพิจารณา หากไม่สามารถทำได้ ควรรีบแจ้งกบง.ให้เร็วกว่านี้ เพื่อให้กบง.โดยกระทรวงพลังงานมีเวลาในการหางบประมาณมาอุดหนุน การมีมติกระชั้นชิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ถือว่าช้าเกินไปมาก สถานการณ์ดังกล่าวเมื่อกระทรวงพลังงานจะหันไปของบกลาง 2566 ที่มากถึง 5,700 ล้านบาทก็ไม่เพียงพอแล้ว งบที่ได้มากที่สุดประมาณ 3,400 ล้านบาทเท่านั้น

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image