‘สมโภชน์’ จี้รบ.ใช้ยุทธศาสตร์-มีวิสัยทัศน์พลิกประเทศเติบโต เดินหน้าไทยแลนด์เฟิร์สต์

‘สมโภชน์’ จี้ รบ.ใช้ยุทธศาสตร์-มีวิสัยทัศน์พลิกประเทศเติบโต เดินหน้าไทยแลนด์เฟิร์สต์

เมื่อวันที่ 25 มกราคม เวลา 10.15 น. ที่ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) เครือมติชน จัดเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023” โดย นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ อีเอ กล่าวเสวนา ในหัวข้อ เดินหน้า New S-curve ว่า การหาทางออกของวิกฤตพลังงานคือ green diesel bio-jet fuel จะเป็นคำตอบ เพราะจากการวิเคราะห์มาถือว่าดีกว่า โดยบริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีชาร์จเร็ว หรืออัลตราฟาสต์ชาร์จขึ้นมา เพื่อใช้ตอบสนองธุรกิจยานยานต์ขนาดใหญ่ ที่ต้องการการชาร์จแบตเตอรี่แบบรวดเร็วกว่าเดิม อีกด้านคือ มองปัญหาในเรื่องคนจะใช้น้ำมันน้อยลง แต่ถือว่าประเทศไทยจะนำเข้าน้ำมันน้อยลง ไม่ต้องเสียดุลการค้า และมีเกษตรกร 2 กลุ่มที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง เพื่อเป็นซัพพลายในการผลิตน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซล ซึ่งหากทุกคนหันไปใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น 2 กลุ่มนี้จะเป็นปัญหา ทำให้เราต้องเปลี่ยนปัญหานี้ไม่ให้เป็นวิกฤตและหาโอกาสที่มีอยู่ อาทิ บริษัทมีการพัฒนาน้ำมันพืชมาทำเป็นน้ำมันเครื่องบิน หรือน้ำมันที่สามารถในยานยนต์อื่นๆ ได้ ถือเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศที่มีอยู่

นายสมโภชน์กล่าวว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ที่แม้มีวิกฤตแต่ก็มีโอกาสเช่นกัน เหมือนภาพในสิงคโปร์ซึ่งเจอแบบเรา แต่เขามีมันสมอง สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ รู้ว่าควรใช้อะไร ใช้แบบไหน และใช้ในตอนไหน เพื่อให้ชนะประเทศอื่น โดยความท้าทายของไทย มีทั้งความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงทุกวัน ประชากรมีอายุมากขึ้น ภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะโลกร้อน ซึ่งนำประเด็นนี้มาใช้ในการกีดกันทางการค้า และไทยก็อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดี เพราะใช้พลังงานสะอาดที่สู้ประเทศอื่นไม่ได้ แถมยังมีค่าไฟฟ้าสูงกว่าด้วย โดยหากเราแก้ไขเรื่องต้นทุนพลังงานไม่ได้ ไม่มีประเทศไหนมาลงทุนในไทยเพิ่มเติมแน่นอน เพราะต้นทุนเริ่มต้นบรรทัดแรกเราก็สู้เขาไม่ได้แล้ว ทำให้หากเราไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เราเดินต่อไม่ได้แน่นอน ซึ่งวิธีแก้ไขคือ เริ่มต้นที่แนวคิดก่อน เพราะหากเรายังคิดเหมือนเดิม บริหารเหมือนเดิม ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เราจึงต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส

Advertisement

นายสมโภชน์กล่าวว่า วิธีที่จะทำให้พลังงานถูกลง คือ การใช้ของที่มีอยู่แต่ทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การมีข้อมูลแบบเปิดเผยที่เป็นเรียลไทม์ที่สุด จะช่วยให้เราสามารถบริหารพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากสุด ส่งผ่านให้ต้นทุนปรับลดลงไปในตัว รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น อาทิ การใช้พลังงานจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลส์) เปิดให้มีการซื้อขายได้อย่างเสรีมากขึ้น เพราะไฟฟ้าจากโซลาเซลล์มีราคาถูกมาก รวมถึงต้องส่งเสริมพลังงานไบโอเจ็ตด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับพืชชีวภาพ ซึ่งหากเราเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้ เราก็จะสร้างโอกาสและทำให้เศรษฐกิจมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น

นายสมโภชน์กล่าวว่า ความจริงประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งมองว่าสามารถจำจุดได้ดี รู้ว่าควรโฟกัสอะไร ปัญหาของประเทศอยู่ที่ใด ปัญหามีอยู่อย่างเดียวคือ เป้าหมายที่เราจะทำนั้น เราต้องทำอย่างไร มองว่าเมื่อเราสามารถแก้ไขเรื่องค่าไฟฟ้าได้แล้ว ก็กลับหาปัดฝุ่นแผนดังกล่าวนี้ เพราะที่ผ่านมาเรามีแผนและเป้าหมายแล้ว แต่เรายังไม่ได้มีการพูดคุยถึงวิธีการเดินไปให้ถึงเป้าหมายมากเท่าที่ควร เปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ที่มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน หากต้องการอะไรจะออกไปหารือและทำให้จบตามเป้าหมายทันที เพราะมีกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ไม่มีตรงนี้ ทำให้พอเราไม่มีตรงนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นโนบายหลักก็มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้หมุดหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

“ประเทศไทยไม่สามารถเติบโตตามปกติ หรือตามธรรมชาติได้แล้ว เพราะแต่ก่อนมีธรรมชาติที่ดี ประชากรวัยรุ่นที่ดี ความต้องการ (ดีมานด์) ในประเทศยังดีอยู่ ทำให้ไทยมีความหอมหวนมาก และไม่มีคู่แข่งในอดีต แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะประชากรแก่ลง ดีมานด์ในประเทศไม่โต ทำให้เราโตตามปกติไม่ได้แล้ว ต้องโตแบบอาศัยยุทธศาสตร์ สิ่งที่ต้องมีคือ รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในรูปแบบที่เป็นที่พึ่งพา หรือเป็นส่วนสนับสนุนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเป็นส่วนเดินนำด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงการบอกวิธีทำให้เราเดินไปถึงเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติได้” นายสมโภชน์กล่าว

อีกเรื่องเป็นตัวเลขเคพีไอที่มองว่ายังไม่ค่อยถูกต้องมากนัก เพราะเดิมเราดูที่ตัวเลขการส่งออกหรือการนำเข้าเท่านั้น แต่เราไม่ได้ดูว่าสุทธิแล้ว ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดเท่าใด อาทิ การผลิตรถยนต์ 1 คัน หรืออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่บอกว่า เกิดการจ้างงาน 7 แสนคน รถยนต์ 1 คันราคาเป็นล้านบาทนั้น คิดเป็นค่าจ้างแรงงานอยู่ในนั้นไม่เกิน 5,000 บาทเท่านั้นเอง ทำให้เราต้องเข้ามาโฟกัสมากขึ้นว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจหรือการเติบโตของไทยสามารถหมุนเวียนเงินไปให้คนหรือสังคมได้ประโยชน์มากขึ้น โดยการแข่งขันระหว่างประเทศต่อจากนี้จะเปลี่ยนแปลงเป็นการเติบโตอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งคนที่จะจัดระเบียบก็คือ รัฐบาลทำให้นโยบายต่อจากนี้ควรต้องหารัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ และกล้าที่จะทำสิ่งใหม่เพื่อก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคในปัจจุบัน โดยเฉพาะคำว่าไทยแลนด์เฟิร์สต์ เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนตื่นมา หากเราสามารถข้ามไปได้ เราจะเกิดเป็นนิวไทยแลนด์ทันที โดยหากเราทำสำเร็จ สิ่งที่จะเห็นคือ ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจะน้อยลง ความเสี่ยงที่มีอยู่จะหายไปหรือลดลง โอกาสดีๆ ก็จะเหลือให้กับคนรุ่นต่อไป อย่าใช้ทรัพยากรหมดและไม่สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่เพิ่ม โดยมองว่าคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีการขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเขามองไม่เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทำให้หากเราสามารถสร้างตรงนี้ให้เขาได้ สังคมก็จะสงบ คนรุ่นหลังมีอนาคตเมื่อไหร่ ประเทศไทยก็จะเจริญ

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image