‘คมนาคม’ จี้ ทล.-ทช. เปลี่ยนใช้ระบบตรวจจับเรียลไทม์ หวังสกัดส่วยรถบรรทุก

‘คมนาคม’ จี้ ทล.-ทช. เปลี่ยนใช้ระบบตรวจจับเรียลไทม์ หวังสกัดส่วยรถบรรทุก เล็งหารืออีกครั้ง 20 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่กระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติ๊กเกอร์บนรถบรรทุก ครั้งที่ 2/2566 ว่า ก่อนหน้านี้ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปดูกระบวนการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อให้เข้าใจระบบทางด้านเทคนิค พร้อมยอมรับว่าระบบที่ผ่านมามีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดกระบวนการทุจริต เนื่องจากมีการใช้บุคลากรเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการจับกุม

โดยผลการประชุมในครั้งนี้ จะมีการมุ่งเน้นให้ใช้ระบบทางด้านเทคนิคระบบไอทีเข้ามามากขึ้นและลดจำนวนคน เพื่อให้ลดการทุจริตให้ได้มากที่สุด สำหรับในระยะยาวจะนำระบบบอดี้คาเมร่า (Body Camera) หรือกล้องติดตัว ซึ่งเป็นรูปแบบออนไลน์ เมื่อมีการตรวจจับ จะเห็นภาพเข้าสู่ส่วนกลางทันที และมีการบันทึกการจับกุม ซึ่งจะทำให้เห็นกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่และลดการทุจริต เบื้องต้นได้สั่งการให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทไปพิจารณา และนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้

ขณะนี้ กรมทางหลวงมีด่านถาวร 97 แห่งทั่วประเทศ ตรวจจับกรณีได้รับแจ้งรถบรรทุกหนักอาจจะหลบเลี่ยง หรือใช้น้ำหนักเกิน ด่านส่วนกลาง 12 หน่วย ซึ่งเป็นการหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ ในการออกตรวจ ส่วนกรมทางหลวงชนบท มีด่านถาวรจำนวน 5 ด่าน และด่านตรวจในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีการสุ่มตรวจทุกสายทาง ส่วนเรื่องบทลงโทษหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หากได้รับแจ้งเบาะแส จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน บทลงโทษตามวินัย เป็น พ.ร.บ.บริการราชการแผ่นดินร้ายแรงสุดถึงขั้นไล่ออก รองลงมาเป็นทัณฑ์บน และยังมีโทษทางอาญาและทางแพ่ง

Advertisement

ด้าน นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรมฯ ได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด โดยชุดแรกจะดูเรื่องคน หรือผู้กระทำผิด ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเชิญสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมาให้ข้อมูล และรายชื่อข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ส่วนคณะทำงานชุดที่สองจะดูในเรื่องของด่านชั่งน้ำหนัก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะมีการขอข้อมูลจีพีเอสรถบรรทุก ของกรมขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งเบื้องต้นอยู่ระหว่างจัดทำร่างการลงนามบันทึกข้อตกลกร่วมกัน (เอ็มโอยู) กับทาง ขบ. เพื่อปิดช่องโหว่ในการทำทุจริต และเพื่อให้ได้ข้อมูลของรถบรรทุกที่เรียลไทม์มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ กรมฯ ยังอยู่ระหว่างดำเนินแผนกำหนดเรื่องคุณสมบัติกล้องที่จะนำมาใช้ ขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดทำแผนว่าจะนำกล้องชนิดใดมาใช้ จำนวนกี่ตัว และต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ โดยจะดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เบื้องต้นคาดว่าจะนำมาใช้ทั้ง 97 ด่านทั่วประเทศ ด่านละ 14 ตัว โดยคาดว่าจะใช้งบเหลือจ่ายในการดำเนินการ และจะนำข้อมูลทั้งหมดนี้มาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

Advertisement

“เดิมทีระบบสปอตเช็ก หรือจุดตรวจย่อย ของกรมฯ มีเจ้าหน้าที่ประจำจุดอยู่แล้ว โดยใช้วิธีถ่ายเป็นคลิปวิดีโอไว้ หากมีข้อท้วงติง ก็สามารถนำมาดำเนินการได้ แต่ไม่ได้เป็นแบบเรียลไทม์ จึงเพิ่มการใช้กล้องบอดี้คาเมร่า หรือกล้องติดตัวเข้ามาใช้ เพื่อลดโอกาสของเจ้าหน้าที่ในการทำทุจริต ในแต่ละปีจะมีงบประมาณจากการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ประมาณ 10 ล้านบาท แบ่งเป็น นำเงินเข้าหลวง 20% หรือประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี งบดำเนินการจับกุม 20% หรือคิดเป็น 2 ล้านบาทต่อปี และเป็นของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตรวจจับ 60% หรือคิดเป็น 6 ล้านบาทต่อปี” นายจิระพงศ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image