‘กอบศักดิ์’ ชี้ตั้ง รบ.กดดันตลาดทุนสุด จับตา ‘แบ่งกระทรวง’ ทำตามนโยบายที่หาเสียงได้ไหม?

‘กอบศักดิ์’ ชี้ตั้งรัฐบาลกดดันตลาดทุนสุด ห่วงเสถียรภาพ-รอความชัดเจน

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลถือเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยมากที่สุด โดยช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีการเปิดสภา เลือกตั้งประธานสภา รวมถึงรองประธานสภาแล้ว ทำให้ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า รวมถึงมีคำถามสำคัญคือเมื่อมีนายกฯและมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่แล้ว จะมีเสถียรภาพมากน้อยเท่าใด จะมีใครขึ้นมาในตำแหน่งหรือกระทรวงใดบ้าง โดยมีนัยยะคือพรรคใดที่รับกระทรวงใดไปก็จะเป็นตัวกำหนดทิศทางนั้นๆ อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง เหล่านี้จะขึ้นอยู่กับว่าการจัดสรรกระทรวงลงไปสู่ใคร ซึ่งจะต้องมีการทำนโยบายและแถลงนโยบายเพื่อเข้าทำหน้าที่ต่อ จากนั้นจะได้เห็นภาพการประเมินทิศทางเศรษฐกิจ ความหวังและความชัดเจนต่างๆ จะเกิดขึ้นอีกครั้ง

Advertisement

นายกอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า การประคองเศรษฐกิจให้ผ่านช่วงเศรษฐกิจถดถอยที่รออยู่ โดยบันทึกการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่าจะมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นแบบอ่อนๆ ส่งผลต่อการซบเซาของเศรษฐกิจและอาจติดลบได้บ้าง ซึ่งเป็นผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เงินเฟ้อลดลงช้า กรรมการจำนวนหนึ่งมองว่าควรต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อ และมีความพร้อมในการขึ้นดอกเบี้ยด้วย ซึ่งมีนัยยะคือหากเฟดต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อและขึ้นดอกเบี้ยไปอีกสักระยะจะทำให้ดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ฐานะของธนาคารที่มีพันธบัตรซ่อนอยู่จะเริ่มเสียหายอีกครั้ง รวมถึงดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นกระทบกับภาคอสังหาริมทรัพย์และการใช้จ่าย

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า มี 3 ประเด็นท้าทายสำคัญของรัฐบาลใหม่คือ 1.การเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะเร็วมากกว่าช่วงที่ผ่านมาแบบทวีคูณ จึงหวังพึ่งพา ครม.ชุดใหม่นำพาเศรษฐกิจและประเทศไทยก้าวขึ้นสู่บันไดของเทคโนโลยีขั้นต่อไป มีนัยยะกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ ว่าจะมีนโยบายรับมือต่อไปอย่างไร 2.โอกาสของธุรกิจในภูมิภาคกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไทยและอาเซียนถือเป็นจุดสนใจในการย้ายถิ่นฐานการผลิต และการลงทุนธุรกิจใหม่

Advertisement

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า แต่ไทยได้รับความสนใจน้อยกว่าที่ควร ขึ้นอยู่กับการรับตำแหน่งของกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้และพร้อมก้าวไปกับประเทศไทยหรือไม่ และ 3.ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ รวมถึงความเสื่อมลงของสหรัฐ ซึ่งไทยจะถูกกดดันให้เลือกข้าง ส่งผลต่อการค้าและการส่งออกไทย

“หน้าตาการจัดทัพ ครม.จะเป็นตัวกำหนดว่าประเทศไทยจะตอบโจทย์ทั้ง 3 เรื่องนี้ได้ดีมากน้อยเท่าใด รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นนี้ด้วย ความกังวลใจในตอนนี้คือพรรคร่วมรัฐบาล หรือรัฐบาลผสมจะสามารถทำงานร่วมกันได้ดีมากน้อยอย่างไร โดยเฉพาะในกระทรวงหลักๆ ของเศรษฐกิจ เนื่องจากโจทย์ของทุกพรรคคือการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ทุกคนจะสร้างผลงานของตัวเอง เมื่อได้รับการแบ่งกระทรวงจะพยายามดำเนินการในกระทรวงของตัวเอง ทำให้การทำงานของรัฐบาลแบ่งออกเป็นพรรคๆ ว่าจะมีการแบ่งเค้กกันอย่างไร ทำงานร่วมกันได้ดีมากเท่าใด” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกอบศักดิ์ระบุว่า นโยบายของพรรคจัดตั้งรัฐบาลที่ประกาศไปในช่วงก่อนการเลือกตั้งจะนำมาสู่การปฏิบัติจริงมากน้อยเท่าใด เพราะหลายเเรื่องที่คนกังวลใจ อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำ การทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ ง่ายขึ้นในการเข้าประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เข้ามาได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้เราอยากให้เกิดขึ้น แต่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นความกังวลว่าผลกระทบจะมากน้อยเท่าใด เร่งรัดในการทำช้าหรือเร็วอย่างไร ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจเหล่านี้จะต้องถูกเลือกมาขับเคลื่อนต่อไป รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ซึ่งเฟทโก้ก็อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อเตรียมเสนอและทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ต่อไปด้วย

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า จากภาพการเลือกประธานสภาและรองทั้ง 2 ตำแหน่ง สิ่งสำคัญคือจากนี้มีเวลาประมาณสัปดาห์กว่าๆ ในการโหวตเลือกนายกฯว่าการสื่อสารและการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร เพราะขนาดเป็นการเลือกประธานสภาก่อนหน้าจะเสนอ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็ไม่แน่จนวินาทีสุดท้าย แต่ก็ยอมถอยคนละก้าว เพื่อให้เลือกประธานและรองสภาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงต้องติดตามต่อว่าการเลือกนายกฯจะมีการหารืออย่างไร ถอยประเด็นใด และเรียบร้อยมากน้อยเท่าใด

นายกอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า ตลาดทุนก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะนำมาซึ่งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากเพียงพอ เนื่องจากสิ่งที่ไม่ชอบที่สุดคือความไม่แน่นอน เพราะปัญหาอยู่ข้างหน้าเยอะ รวมถึงการแบ่งกระทรวงต่างๆ จะจัดสรรได้เหมาะสม นำไปสู่ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน นโยบายที่ตอบโจทย์และขับเคลื่อนไปข้างหน้า จะต้องลุ้นอีก 1 เดือนต่อจากนั้นว่านโยบายที่จะขับเคลื่อนจริงๆ และให้ความสำคัญจะมีอะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ตลาดทุนชะลอการลงทุนก่อน โดยระดับดัชนีที่ 1,500 จุด ก็ถือว่าประคองตัวเองได้ในระดับหนึ่งเพื่อรอดูความชัดเจนจากนี้

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ทิศทางเงินเฟ้อและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ที่ 0.23% เงินเฟ้อของไทยจบลงแล้ว เป็นประเทศอันดับ 6 ที่เงินเฟ้อต่ำสุดเทียบกับทั่วโลก รวมถึงหากเทียบในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความสำคัญกับเศรษฐกิจโลก ไทยเป็นอันดับ 2 รองจากจีนเท่านั้นที่เงินเฟ้อต่ำ ถือเป็นความสำเร็จในการรับมือกับเงินเฟ้อช่วงที่ผ่านมา เพราะหากเทียบกับประเทศอื่น อาทิ เวเนซุเอลา เงินเฟ้ออยู่ที่ 429% เลบานอน 260% ซิมบับเว 100% กว่าๆ แต่ระดับเงินเฟ้อของไทยถือเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจ

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า แบงก์ชาติมีเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% จึงไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ส่วนตัวมองว่าอยากให้ดอกเบี้ยอยู่ในขาต่ำลงเล็กน้อย เพราะโลกไม่ค่อยดี เศรษฐกิจเคลื่อนไหวไม่เต็มที่ หากเป็นโซน 2-3% ก็อยากให้อยู่ที่ขาล่าง หรือประมาณ 2% ซึ่งมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image