ความฝัน‘เอกชน’ ส่องสเปก‘รมต.’กู้ศก.

ความฝัน‘เอกชน’ ส่องสเปก‘รมต.’กู้ศก.

ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 3 เดือน หลังการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่การโหวตนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังคงต้องลุ้นว่าจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

สัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีกระแสข่าวการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองที่จะเข้ามาร่วมรัฐบาล แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าพรรคไหนคุมกระทรวงไหน แต่ในส่วนของคณะรัฐมนตรีในกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน ถูกจับตาว่าจะมีการวางตัวใครเข้ามาดูแล เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันนโยบาย

ดังนั้นต้องมาฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชนว่าอยากได้รัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีหน้าตาอย่างไร
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า บุคคลที่จะเข้ามานั่งทำหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ ต้องมองถึงความรู้ความสามารถของบุคคลในทีมเศรษฐกิจในฝั่งแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คงต้องดูความเหมาะสม ไม่เพียงแต่นำนักการเมืองเข้ามานั่งบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

Advertisement

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกัน วันนี้มีเพียงภาคท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อน รัฐบาลต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าคนกลุ่มอื่นจะขับเคลื่อนอย่างไร เพราะมองต่อไปเศรษฐกิจไทยผ่านช่วงโควิดแล้ว แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่กำลังจะเจอมรสุมจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความเสี่ยง ทั้งสหรัฐและจีน

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลนอกจากจะใช้มาตรการเชิงรุกในการเร่งเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างครบถ้วนทุกภาคส่วนแล้ว ต้องมีวิธีการตั้งรับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2567 และในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ไม่มีเวลาฮันนีมูน และต้องเร่งเดินหน้าให้เร็วที่สุด

“โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล 1.คือหน้าตาคณะรัฐมนตรี ต้องสร้างความเชื่อมั่น 2.นโยบาย หลายฝ่ายอยากเห็นความชัดเจน และจะขับเคลื่อนอย่างไร เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จสิ่งที่อยากเห็นคือแผนการทำงานว่าภายใน 100 วัน อาทิ การโรดโชว์กับต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ มองว่ามีนักลงทุนที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนบ้านเรา แต่โจทย์ของรัฐบาลไม่เพียงแต่สร้างความเชื่อมั่น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจว่าจะร่วมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร เพราะมีโจทย์ท้าทายค่อนข้างมาก” อมรเทพกล่าว

Advertisement

ขณะที่ อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ประเมินเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวจริงๆ แต่เบื้องต้นสิ่งที่ภาคเอกชนอย่างภาคการท่องเที่ยวต้องการคือ ผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยวโดยตรง เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติยุคใหม่

ยิ่งในช่วงที่เทคโนโลยีและสังคมดิจิทัลเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อน สร้างการเปลี่ยนแปลงหลังเกิดโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการเองมีการปรับตัวสูงมาก

เมื่อผู้ประกอบการก็ปรับตัวสูงมากๆ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน โลกเปลี่ยน จึงจำเป็นที่ต้องได้รัฐมนตรีที่มีความรู้ความเข้าใจในการเปลี่ยนไปของตลาดท่องเที่ยวโลก เพื่อให้มีนโยบายในการสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้

ด้าน ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าคนที่เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือรัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ต้องเป็นใคร แต่ทีมจัดตั้งรัฐบาลต้องสรรหามือเศรษฐกิจผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเข้ามาทำงาน เมื่อเสนอรายชื่อ ประชาชน นักลงทุนทั้งในและต่างชาติ ต้องตอบรับทันที เพราะมีประสบการณ์ทำงานจะทำให้สร้างความเชื่อมั่นกับทุกฝ่าย เพื่อเข้ามาเร่งแก้ปัญหาหนี้ การส่งออกชะลอตัว การเติมกำลังซื้อให้รายย่อย

“มีข้อเสนอฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ โดยอยากให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนแรก โดยเฉพาะเร่งกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน แก้ปัญหาภัยแล้ง จากปรากฏการณ์เอลนิโญ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับประชาชน และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึง 91% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) หรือประมาณ 16 ล้านล้านบาท” ธนิตระบุ

ส่วน จุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่า ส่วนตัวอยากให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใหม่โดยเร็ว บุคคลที่เป็นรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงต้องมีคุณสมบัติที่โดดเด่น อาทิ ผลงาน ประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในกระทรวงนั้นๆ ไม่ใช่รัฐมนตรีหน้าใหม่ ที่ต้องมาเรียนรู้หรือฝึก

ประสบการณ์อีก เข้ามาแล้วทำงานได้ทันที ไม่มีเวลาให้ทดลองกันอีก เพราะต้องเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าให้เร็วที่สุดเพราะติดหล่มหรือกับดักทางการเมืองนานกว่า 9 ปีแล้ว ถ้าตั้งรัฐบาลช้าส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้นนโยบายรัฐบาลใหม่ต้องชัดเจน โดยให้พรรคร่วมรัฐบาลตอบสนอง และวางแนวทางปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ทำให้ขาดเอกภาพบริหารประเทศ ที่สำคัญผู้เป็นรัฐมนตรีต้องภาพลักษณ์ดี เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย เพื่อสร้างความน่าเชื่อและความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติและในเวทีโลกด้วย

“รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมไม่ใช่ร่างทรงหรือนอมินีกลุ่มนายทุน ถ้าพรรคเพื่อไทยหาบุคคลที่เหมาะสมไม่ได้ ต้องเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาล สรรหาบุคคลที่เหมาะสมมารับตำแหน่งดังกล่าว หรือนำคนนอกที่มีคุณสมบัติดังกล่าว มาทำหน้าที่แทน โดยเฉพาะมาจากภาคเอกชน หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่เคยผ่านงานระดับประเทศมาก่อน เพราะคู่แข่งที่เป็นเพื่อนบ้าน ได้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว และกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไปพร้อมกัน” จุลนิตย์ระบุ

หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกว่า ภาคเอกชนอยากเรียกร้องว่าแต่ละพรรคการเมือง จะต้องคัดสรรบุคคลหรือบุคลากรให้มีความเหมาะสมตามตำแหน่งหน้าที่ ครม.ชุดใหม่ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีด้านต่างๆ จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจของไทย และเศรษฐกิจของโลกอย่างแท้จริง เช่น เข้าใจเศรษฐกิจในระบบดิจิทัล และเข้าใจนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นในเวทีโลก ถ้าจะให้ดีส่วนหนึ่งของ ครม.ควรที่จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้าน ซึ่งมีอายุระหว่าง 40-55 ปี ถือว่ากำลังเหมาะ

ขณะเดียวกันปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีเรื่องปัญหาภัยแล้งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ควรที่จะต้องเข้าใจปัญหาภัยแล้งด้วย เพราะการมีปัญหาเรื่องน้ำ นอกจากจะทำให้การทำการเกษตร ที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางแล้ว ภาคอุตสาหกรรมก็ดี ภาคการท่องเที่ยวก็ดี ที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย พรรคการเมืองต่างๆ จะจัดสรรบุคคลเข้ามาเป็น ครม.ตามความเหมาะสม ไม่ใช่การแบ่งเค้ก แบ่งผลประโยชน์ของพรรคอย่างเดียว ควรมองถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญด้วย

เหล่านี้ คือ เสียงจากภาคเอกชนที่อยากเห็นหน้าตาของรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เข้ามาแก้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image