ชำแหละนโยบายปากท้อง ‘รบ.เศรษฐา’ ลบคำครหา ไม่ตรงปก-จกตาประชาชน

ชำแหละนโยบายปากท้อง‘รบ.เศรษฐา’ ลบคำครหา ไม่ตรงปก-จกตาประชาชน!!

ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกยุคของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เรียกเสียงฮือฮามาจริง คือ ลดค่าไฟ น้ำมันดีเซล 20 กันยายนนี้ แม้จะผิดหวังกับเบนซินที่ยังไม่ลด หรือถ้าลดก็จะช่วยแค่ผู้ใช้บางกลุ่ม รวมทั้งเดินหน้าพักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอี แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ชัดเจนเร็วๆ นี้

⦁เอกชนจับตานโยบายแจกเงินหมื่น

สำรวจมุมของภาคเอกชนอย่าง ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) มองว่า จากนโยบายที่มีการนำเข้าที่ประชุม ครม.นัดแรก เปรียบเสมือนการวางโรดแมปของประเทศ ว่าทิศทางของประเทศจะไปทางไหน ก่อนจะพูดถึงเรื่อง “ตรงปก หรือไม่ตรงปก” ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รัฐบาลเศรษฐา 1 จัดตั้งในรูปแบบของรัฐบาลผสม หากนำทุกนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่อยู่ในรัฐบาลมารวมกัน แล้วต้องดำเนินการตามนั้น คงเกิดความวุ่นวายน่าดู จึงยังต้องติดตามต่อไปว่านโยบายที่จะออกมาหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ไม่ควรออกมาตรการ หรือนโยบายแบบเหวี่ยงแห

โดยไฮไลต์ของรัฐบาลชุดนี้ ที่จับตามองคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เรื่องนี้ภาคเอกชนเห็นด้วย เพราะจะมีเงินไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลคือ ต้องกำหนดขอบเขตเงื่อนไขให้ชัดเจน ว่าจะทำระบบการใช้จ่ายเป็นแบบใด เบื้องต้นเหมือนจะให้ในรูปแบบของโทเคน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าหากใช้สกุลเงินในรูปแบบดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร เพราะมีความแตกต่างจากแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง แต่ที่แน่ๆ นโยบายนี้มีส่วนเข้าไปช่วยกระตุ้นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศไม่ต่ำกว่า 3.18% ซึ่งในปี 2567 จีดีพีของประเทศจะดีกว่าปีนี้ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้จบแล้วจึงคาดว่าจีดีพีปี 2566 จะจบไม่เกิน 3% แน่นอน

Advertisement

แม้นโยบายดังกล่าวในภาพรวมจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี แต่ยังมีการตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน เพราะหากใช้วิธีโยกเงินจากนโยบายต่างๆ มองว่าเป็นเงินก้อนเดิม อาจไม่ทำให้จีดีพีโตมากขึ้นก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลอีกครั้งเช่นกัน

⦁ลดดีเซลไม่ช่วยราคาสินค้า

ขณะที่นโยบายการลดราคาพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า รัฐบาลประกาศว่าจะปรับราคาน้ำมันดีเซลลงเหลือ 30 บาทต่อลิตร มองว่าการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 31.94 บาทต่อลิตร เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว แต่จากการประกาศของรัฐบาลส่งผลให้รัฐต้องอัดฉีดเงินเข้าไปอีก 2 บาทต่อลิตร ซึ่งนโยบายนี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้จีดีพีของประเทศดีขึ้น รวมถึงไม่ได้ช่วยให้ราคาสินค้าลดลง เพราะเรื่องการลดค่าน้ำมันช่วยในเรื่องของโลจิสติกส์ แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องต้นทุนสินค้า ดังนั้น ราคาสินค้ายังสูงเหมือนเดิม สิ่งที่รัฐบาลต้องระวังคือเรื่องราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นหลังจากนี้ การตรึงราคาต่ำกว่าราคาตลาดเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้

Advertisement

ส่วนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งถือเป็นแผนปฏิบัติการเร่งรัด (ควิกวิน) ที่รัฐบาลดำเนินการแล้ว แต่ในเรื่องของการแก้หนี้ในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่เกษตรกร และเอสเอ็มอีรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19โดยใช้งบประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท แต่มองว่าเรื่องนี้ต้องทำคู่ขนานกันไปกับการปรับโครงสร้างหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เป็นเรื่องที่ค้างมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ หากสามารถปรับโครงสร้างได้ทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจจะได้เดินหน้าต่อ

⦁นักวิชาการชี้หั่นค่าไฟ-น้ำมันกดเงินเฟ้อ

ฟากนักวิชาการอย่าง ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ให้ความเห็นว่า มาตรการปรับลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า จะช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนและลดต้นทุนการขนส่งให้กับภาคธุรกิจ ทำให้เงินเฟ้อไม่สูง เป็นประโยชน์ต่อค่าครองชีพของประชาชน และไม่เพิ่มแรงกดดันในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากกรอบคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3% อัตราดอกเบี้ยจึงไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นแรง

อีกหนึ่งมาตรการของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือมาตรการวีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน จะช่วยแก้ปัญหาที่นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยน้อยในช่วงที่ผ่านมา ให้เดินทางเข้าไทยได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2566 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 7-8 แสนคนต่อเดือน และมีโอกาสผลักดันให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทย เป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 4.5-5 ล้านคนได้ จากตัวเลขล่าสุดช่วง 8 เดือนแรก 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยแล้ว 2.2 ล้านคน

อย่างไรก็ดี จากมาตรการวีซ่าฟรี คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศประมาณ 50,000 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งปี ให้เพิ่มขึ้น 0.3-0.5%และทำให้ในไตรมาส 4/2566 มีเม็ดเงินจากมาตรการนี้เข้ามาบวกจากเดิม 1.5% เป็นอย่างน้อย ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ มีโอกาสโตได้ 5% จะทำให้ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เศรษฐกิจไทยโตได้ 3.8-4% ส่งผลให้ทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยโตอย่างน้อย 3% จากนโยบายของรัฐที่อัดต่อเนื่องในช่วงนี้

⦁ลุ้นนโยบายรัฐดันศก.ปี’67ทะลุ5%

ขณะเดียวกัน นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทนั้น หากนโยบายดังกล่าวรัฐสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ จะสามารถผลักดันให้เกิดการหมุนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่ม 2-3% และเพิ่มโอกาสให้จีดีพีไทยปี 2567 เติบโตได้ 4-5%

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์ตามแผนนโยบายที่ออกมาเท่านั้น สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นหรือฟุบต่อ ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่ต้องพิสูจน์ว่า นโยบายที่คัดมา “ตรงปก หรือจกตา” ประชาชน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image