คิดเห็นแชร์ : THEOS-2 ความหวังการเข้าสู่เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ของประเทศไทย

คิดเห็นแชร์ : THEOS-2 ความหวังการเข้าสู่เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ของประเทศไทย

วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวย จะนับได้ว่าเป็นอีกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อวกาศของประเทศไทยที่สำคัญครั้งหนึ่งในการที่ดาวเทียมสำรวจโลกของไทยที่นับได้ว่ามีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดในอาเซียน ดาวเทียม THEOS-2 เข้าสู่ห้วงอวกาศ ณ ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ในทวีปอเมริกาใต้ โดยจรวด VEGA ขององค์กรอวกาศยุโรป ทั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดซื้อขายภาพถ่ายจากดาวเทียมทั่วโลกอยู่ที่ 4.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน พ.ศ.2571 โดยภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดคือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากที่ผ่านมาภาพถ่ายจากดาวเทียมยังคงได้รับความนิยมเนื่องจากคุณสมบัติครอบคลุมพื้นที่ได้ความคุ้มค่ากว่าวิธีการอื่นๆ ซึ่งนับเป็น “สารตั้งต้น” ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น การติดตามการเพาะปลูก การทำแผนที่และผังเมือง ภัยพิบัติ ความมั่นคง ฯลฯ

นอกเหนือจากดาวเทียมสื่อสารที่นำมาใช้ประโยชน์ในกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคม ผ่านดาวเทียมไทยคมที่เราคุ้นเคย ประเทศไทยเรายังมีดาวเทียมสำรวจโลกที่นำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกกลุ่มหนึ่ง โดยในอดีตประเทศไทยได้มีดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS และได้นำขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 โดย THEOS มีกล้องถ่ายภาพขาวดำรายละเอียด 2 เมตร และกล้องถ่ายภาพสีรายละเอียด 15 เมตร และให้บริการมาเป็นเวลามากกว่าสิบห้าไปแล้ว โดยที่มีคาดการณ์ในการออกแบบครั้งแรกให้มีอายุการใช้งานมากกว่า 5 ปีเท่านั้น ดังนั้นโครงการ THEOS-2 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะตอบสนองความต้องการในเรื่องภาพถ่ายดาวเทียมที่ต้องการความละเอียดมากขึ้นตอบสนองแอพพลิเคชั่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

เรามักเข้าใจกันว่าดาวเทียมสำรวจโลกเป็นดาวเทียมที่รัฐบาลลงทุน เพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น แต่หากพิจารณาการใช้ประโยชน์ดาวเทียมสำรวจโลกดีๆ จะเห็นว่า ทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างมีการลงทุนในการสร้างดาวเทียมและส่งดาวเทียมสำรวจโลกเพิ่มขึ้นมาก เพราะมองเห็นโอกาสในทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ดาวเทียมสำรวจโลกเปรียบเสมือนการติดกล้องถ่ายภาพไว้บนดาวเทียมที่สามารถถ่ายภาพประเทศไทยได้ทุกวัน แล้วภาพมุมสูงจากอวกาศ ที่จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของประเทศไทยได้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ได้ เช่น การทำเกษตรกรรม ข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้กับเกษตรกรได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การประเมินพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกที่ตรงกับความต้องการของตลาดและเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช การติดตามพื้นที่เพาะปลูก คาดการณ์ผลผลิตและวันเก็บเกี่ยว คุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร ปัจจุบันนี้เกษตรกรสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดมาใช้งานได้ที่แพลตฟอร์ม “แมลงปอ” ที่เว็บไซต์ https://dragonfly.gistda.or.th นอกจากประโยชน์ด้านการเกษตรแล้ว ประโยชน์อีกอย่างที่จะใช้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ติดตามคราบเกลือและการรุกล้ำของน้ำเค็ม/น้ำทะเล รวมทั้งวางแผนการขนส่ง บริหารจัดการอุปทานและอุปสงค์ให้สอดคล้องกับกลไกการตลาด และยังสามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเขตที่ดินทับซ้อน ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินไม่ตรงกับศักยภาพ ปัญหาการจัดการที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการทำกิน การวางแผนบริหารจัดการเพื่อการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า รวมไปถึงการวางแผนเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ นั่นเท่ากับว่า การมีดาวเทียมสำรวจโลก คือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

Advertisement

โครงการ THEOS-2 ประกอบไปด้วยดาวเทียมสองดวงคือ ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมน้ำหนักประมาณ 430 กิโลกรัม มีกล้องถ่ายภาพขาวดำรายละเอียด 0.5 เมตร ดีกว่าของ THEOS ที่อยู่ระยะเพียง 2 เมตรเท่านั้น และกล้องถ่ายภาพสีรายละเอียด 2 เมตร ดีกว่าเดิมที่ 15 เมตร มีอายุตามการออกแบบขั้นต่ำที่ 10 ปีโคจรที่วง ดาวเทียม THEOS และ THEOS-2 ถ่ายภาพในช่วงคลื่น Visible และ Near Infrared ด้วยรายละเอียดภาพขาวดำที่สูงระดับ 50 เซนติเมตร ซึ่งมีข้อได้เปรียบในการจำแนกรายละเอียดของวัตถุและ infrastructure ต่างๆ โดยเฉพาะในภารกิจความมั่นคง และการทำแผนที่รายละเอียดสูง ดาวเทียมอีกดวงหนึ่งคือ THEOS-2A เป็นดาวเทียมขนาดเล็กน้ำหนักเพียง 100 กิโลกรัม จะใช้ทำงานร่วมกับ THEOS-2 มีกำหนดการที่จะยิงเข้าสู่วงโคจรในต้นมีหน้า ถ่ายภาพวิดีโอและภาพ stereo ในช่วงคลื่น RGB ที่รายละเอียดภาพประมาณ 1 เมตร แนวกว้างประมาณ 5.5 x 5.5 กิโลเมตร แต่ภาพที่ได้จะอยู่ในลักษณะของภาพเคลื่อนไหว หรือภาพ along track stereo เนื่องจากดาวเทียมต้องถ่ายภาพที่มุมต่างๆ และนำสัญญาณมาประมวลผลร่วมกัน จึงไม่ได้ภาพนิ่งในลักษณะเดียวกับดาวเทียม THEOS/ THEOS-2 และไม่มีช่วงคลื่น NIR จึงมีข้อจำกัดใน application การเกษตรบางอย่างที่ใช้ข้อมูลจากช่วงคลื่นดังกล่าว

ศักยภาพของดาวเทียม THEOS-2 ที่สามารถถ่ายภาพแบบรายละเอียดสูงมากได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย จะทำให้ประเทศของเรามีแหล่งข้อมูลเชิงพื้นที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ละเอียดและทันสมัยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยภาพถ่ายจากดาวเทียมจะให้รายละเอียดที่ครบถ้วนและมีความถูกต้องเชิงตำแหน่ง ซึ่งนี่คือข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยและนักพัฒนาที่ต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการรังสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการฟื้นฟูความเสียหายในเชิงพื้นที่ และการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยที่สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกเหนือจากนี้จะยังการจัดการเมืองโดยเฉพาะแนวขอบเขตที่ดินและขอบเขตชายแดน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของประเทศ รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ อีกด้านคือด้านการใช้ประโยชน์ดาวเทียม THEOS-2 ในทางธุรกิจ อาทิด้านการจัดทำแผนที่ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1 : 1000 ที่มีความจำเป็นแก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก รวมทั้งการสร้างแพลตฟอร์มด้านการจัดการเกษตรและอาหาร สามารถใช้ในการวิเคราะห์และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น

Advertisement

บทสรุปการค้นหาสำรับโครงการ THEOS-2 ด้วยประโยชน์ที่หลากหลายของดาวเทียมสำรวจโลกและมีความต้องการทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ในอนาคตประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการ THEOS-3, THEOS-4, ฯลฯ ต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะต้องมีการออกแบบ การสร้าง หรือแม้กระทั่งการมีจรวดนำเข้าสู่วงโคจร ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศมากขึ้น ด้วยประสบการณ์ความรู้ที่ได้จากโครงการ THEOS/THEOS-2 จะสามารถเป็นการริเริ่มเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ของประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image