เทียบความแตกต่าง-ความคุ้มค่า ‘แลนด์บริดจ์ใต้-คลองไทย’

เทียบความแตกต่าง-ความคุ้มค่า ‘แลนด์บริดจ์ใต้-คลองไทย’ 

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยเรื่องคลองไทย กับ แลนด์บริดจ์ภาคใต้ ใช่โครงการเดียวกันหรือไม่ หรือคนละโครงการ และแตกต่างกันอย่างไร!

จริงๆ แล้ว คลองไทย หรือที่รู้จักกันในนาม คลองกระ หรือ คลองคอคอดกระ ซึ่งมีการดำริกันหลายฝ่ายเมื่อครั้งอดีตเพื่อก่อสร้าง หรือขุดคลองขนาดใหญ่ในภาคใต้ของประเทศไทย เป้าหมายเพื่อการคมนาคมลดระยะทางการขนส่ง ซึ่งหมายถึงการลดจต้นทุนการขนส่งในการเดินเรือ ที่ไม่ต้องเสียเวลาและอ้อมผ่านช่องแคบมะละกาของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือมาช้านาน

ซึ่งการสร้างหรือขุดคลองดังกล่าวเป็นคลองขนาดใหญ่ ซึ่งตัดผ่านภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการขนส่งภายในพื้นที่ เพื่อเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อผ่านไปยังตะวันออกไกลอย่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งหากทำได้จะทำให้ร่นระยะทางไปได้ถึง 1,200-3,500 กิโลเมตร

Advertisement

คลองไทยคืออะไรสำคัญอย่างไร

ว่ากันว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางน้ำในคริสต์ศตวรรษที่ 21 คลองตามแบบแผนนำเสนอใน พ.ศ.2558 มีความยาว 102-135 กิโลเมตร กว้าง 400 เมตร และลึก 25 เมตร ผ่าน 5 จังหวัดคือ สงขลา ตรัง พัทลุง กระบี่ และนครศรีธรรมราช โดยมีการหารือและสำรวจแผนงานคลองหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะจำเป็นต้องศึกษาให้ลงลึกทั้งเรื่อง ต้นทุนการก่อสร้างหรือขุดลอก รวมถึงเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เพราะหากทำได้ ย่อมหมายความว่าดินแดนประเทศไทยบริเวณด้ามขวานจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยมีคลองกั้นกลาง

เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องชั่งน้ำหนักว่าคุ้มค่าหรือไม่ และโครงการนี้อาจจะต้องลงทุนถึง 2 ล้านล้านบาท!

Advertisement

ขณะที่แลนด์บริดจ์ใต้ ระนอง-ชุมพร ที่ดำริในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.2561 และต่อมา ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2563 สภาผู้แทนราษฎรไทยยอมรับที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาโครงการคลองไทยภายใน 120 วัน และต่อมากระทรวงคมนาคมก็ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำการศึกษาเรื่องนี้ โดยขีดเส้นที่ระนองและชุมพร ด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง ด้วยระบบขนถ่ายสินค้าออโตเมชั่น โดยสร้างรถไฟทางคู่และมีมอเตอร์เวย์เชื่อมทั้ง 2 ฝั่ง ประหยัดเวลาการขนส่งได้อย่างน้อย 2-3 วัน

แผนลงทุนแลนด์บริดจ์ใต้

โดยโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่จะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล คือ ที่บริเวณแหลมริ่ว จ.ชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง จ.ระนอง และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้แนวคิด One Port Two Side และการพัฒนาพื้นที่หลังท่าด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ โดยท่าเรือมีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู รวมถึงแนวเส้นทางการพัฒนาระบบเชื่อมโยง ระยะทาง 93.9 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นระยะทางบนบก 89.35 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) รองรับการขนส่งสินค้า และรางขนาด 1 เมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางขนส่งผู้โดยสารในโครงข่ายรวมของประเทศอีกด้วย โดยมีรูปแบบทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้น และอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น การพัฒนาแลนด์บริดจ์มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1.การก่อสร้างท่าเรือ มูลค่าลงทุนรวม 636,477 ล้านบาท ได้แก่ ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 305,666 ล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู ท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 330,810 ล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู 2.การพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่าลงทุนรวม 141,103 ล้านบาท ได้แก่ ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 86,397 ล้านบาท ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 54,705 ล้านบาท และ 3.เส้นทางเชื่อมโยงชุมพร-ระนอง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ มูลค่าลงทุนรวม 223,626 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม:ส่อง ‘แลนด์บริดจ์ใต้’ เมกะโปรเจ็กต์ 1 ล้านล. สำคัญตรงไหน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image