‘ประเสริฐ’ ลั่นปราบแก๊งคอล เด็ดขาดรวดเร็ว-ทันเล่ห์โกง ดึงเฟซบุ๊ก-ไอจี-เอ็กซ์ สกัดตุ๋น

แฟ้มภาพ

‘ประเสริฐ’ ลั่นปราบแก๊งคอล เด็ดขาดรวดเร็ว-ทันเล่ห์โกง ดึงเฟซบุ๊ก-ไอจี-เอ็กซ์ สกัดตุ๋น ‘กสทช.’ ลุยเช็ก 4 หมื่นเบอร์โทร

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วน ว่า เรื่องนี้ได้หารือกับนายเศรษฐาแล้วจะเดินหน้าแก้ปัญหาให้เร็วและเด็ดขาดเพื่อคุ้มครองประชาชนคนไทยไม่เป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยผู้ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งมาที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) หรือศูนย์ AOC 1441 (สายด่วน 1441) นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพร้อมอนุกรรมการชุดเล็กที่ได้ผู้บัญชาการสอบสอบกลางเข้ามาเดินหน้าขยายผลจับกุมอย่างเด็ดขาดด้วย

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลโดยดีอีเอสจะทำงานเชิงลึก ตรวจสอบใกล้ชิด เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานเป็นขบวนการและปรับตัวหาวิธีหลอกประชาชนตลอดเวลา อย่างเวลานี้เป็นเทศกาลลอยกระทง กลุ่มมิจฉาชีพก็ออกมาหลอกประชาชนเรื่องจองที่พัก เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องปราบปราม ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง การทำงานตอนนี้จึงไม่ต่างจากแมวไล่จับหนู

“ขณะนี้ดีอีเอสยังหารือกับแพลตฟอร์มทุกประเภทที่เปิดให้บริหารในไทย อาทิ เฟซบุ๊ก ไอจี เอ็กซ์ เพื่อร่วมมือกันสกัดขบวนการหลอกลวงประชาชน เมื่อพบข่าวปลอมจะสั่งปิดทันที จนเวลานี้ยอดปิดพุ่งขึ้นเพิ่มเป็น 10 เท่าจากอดีตแล้ว ล่าสุดได้สั่งการให้ศูนย์ AOC 1441 เพิ่มการสื่อสารกับประชาชนเพื่อเตือนภัย และอัพเดตการทำงานให้ประชาชนทราบ โดยจะรายงานข้อมูลอัพเดตทุกวันศุกร์ของสัปดาห์” นายประเสริฐกล่าว

Advertisement

ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมและความมั่นคงของรัฐ ครั้งที่ 6/2566

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวว่า เร่งรัดการดำเนินการตรวจสอบเรื่องอาชญากรรมออนไลน์ ตามนโยบายของนายเศรษฐา โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการได้พิจารณาถึงมาตรการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเบอร์ต้องสงสัยเพื่อเอาผิดผู้ถือครองเบอร์ที่คนร้ายใช้ ย้อนหลังไปถึงวันที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลใช้บังคับวันที่ 17 มีนาคม 2566 โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ โดยได้รับเบอร์ต้องสงสัย จำนวนถึง 41,398 หมายเลข โดยแบ่งเป็นเบอร์ที่มีผู้แจ้งผ่านช่องทาง Thaipoliceonline.com และหมายเลขด่วน AOC 1441 จำนวน 11,219 หมายเลข และเป็นเบอร์ที่ผูกกับบัญชีต้องสงสัย 30,179 หมายเลข

‘กสทช.จึงได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตรวจสอบ กรองหมายเลขที่มีการกระทำความผิด แล้วแจ้งประสานขอข้อมูลไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) เพื่อขอทราบว่า ใครเป็นผู้ถือครอง มีการโทรไปที่ใดบ้าง โทรไปบ่อยแค่ไหน ตำแหน่งที่ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ที่ไหน รวมถึงข้อมูลการชำระเงินเพื่อติดตามเอาผิดคนร้าย’ พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image