อีคอนไทย ชี้ เศรษฐา ไม่มีอำนาจแทรกแซงมติค่าแรง ออกมาค้านแค่เล่นการเมือง

อีคอนไทย ชี้ เศรษฐา ไม่มีอำนาจแทรกแซงมติค่าแรง ออกมาค้านแค่เล่นการเมือง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ประกอบด้วยกรรมการไตรภาคีพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมนั้น ว่า สำหรับค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกปรับขึ้นครั้งนี้จะมีผลวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยมีการปรับขึ้น 2-16 บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั้ง 77 จังหวัด ที่ 2.37% ส่วนตัวมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้มีความสอดคล้องกับที่เอกชนสามารถรับได้ และการพิจารณาของบอร์ดค่าจ้างในครั้งนี้มีกรอบชัดเจน ไม่ว่าจะวิธีการคำนวณค่าจ้างรายจังหวัดที่มีที่มาของการจะปรับขึ้นค่าแรง คือใช้การวัดผลิตภาพแรงงาน จึงเป็นที่มาว่าแต่ละจังหวัดมีการปรับขึ้นไม่เท่ากัน รวมทั้งการปรับนิยามที่ปรับจากที่นิยามว่าค่าแรงต้องจ่ายเพื่อให้แรงงานนำไปใช้ดูแลครอบครัวด้วย ปรับเป็นค่าแรงขั้นต่ำ คือ สำหรับกรณีอัตราแรกเข้า และให้ตัวแรงงานสามารถดำรงชีพได้ ตามมาตรฐานการดำรงชีพ รวมทั้งต้องสอดคล้องกับภาคธุรกิจในพื้นที่นั้นๆ

“การกำหนดยามนั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นจะอ้างกันอีกว่าแรงงานคนหนึ่งต้องเลี้ยงครอบครัว ดูแลลูกเต้า ค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นยังไม่พอกิน แต่ในครั้งนี้บอร์ดค่าแรงมีการโฟกัสเลยว่า ค่าแรงขั้นต่ำ คือ สำหรับแรงงานหนึ่งคน เป็นแรงงานใหม่ แรกเข้า ให้พอดำรงชีพได้ ไม่ได้ใช้อารมณ์ความรูสึกเข้ามาตัดสิน” นายธนิต กล่าว

อ่าน ‘เศรษฐา’ สั่งทบทวนมติใหม่ เปรียบค่าแรงขั้นต่ำ 3 จ.ชายแดนใต้ ยังซื้อไข่ไม่ได้เลย

Advertisement

การปรับค่าแรงดังกล่าวยังสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ อาทิ อัตราเงินเฟ้อไทยปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ 1.7% เท่านั้น และแนวโน้มไม่ได้น่าจะสูงขึ้นมาก ขณะที่เศรษฐกิจโลกปี 2567 อาจจะขยายตัวเพียง 2.1 -2.5%  เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยปี 2567 อาทิ สหรัฐอเมริกาคาดขยายตัว 1.9% สหภาพยุโรป 1.1% ญี่ปุ่น 0.6% จีน 3% ปี 2567 จึงอาจจะไม่ใช่ปีที่สดใส เพราะไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจากนอกประเทศโดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งปี 2566 หดตัว -1.6% รวมทั้งการท่องเที่ยวอาจไม่โตตามคาด โดยเฉพาะจีน ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อภาคธุรกิจไทย การลงทุนภาคเอกชนก็โตต่ำเช่นกัน ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้สอดคล้องแล้ว นอกจากนี้การใช้กรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากสามฝ่าย ได้แก่ ตัวแทน ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ถือเป็นการพิจารณาที่รอบด้าน

นายธนิต กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ออกมาแสดงความไม่พอใจเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดว่าต่ำไปนั้น เบื้องต้นนั้น นายเศรษฐา หรือด้วยอำนาจนายกรัฐมนตรีนั้น คงไม่สามารถสั่งการให้มีการทบทวนค่าแรงได้ เพราะถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ อาจจจะผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังนั้น เมื่อบอร์ดค่าจ้างมีมติออกมาแล้วก็ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาการขึ้นค่าแรงสำหรับปี 2567 แล้ว และต่อไปกระทรวงแรงงานจะเสนอมติการปรับขึ้นค่าแรงนี้เข้าสู่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เป็นวาระเพื่อรับทราบเท่านั้น ไม่ใช่วาระเพื่อการพิจารณาเห็นชอบ

“สำหรับความเห็นผม การที่นายเศรษฐา ออกมากล่าวว่าไม่พอใจ อยากจะให้ทบทวนนั้น ทำไม่ได้ และก็ไม่ใช่หน้าที่ด้วย เพราะมติที่อออกมาถือว่าถูกต้องแล้ว มีการพิจารณาผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง ผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ตามกฎหมาย มีความโปร่งใส ใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือของรัฐในการพิจารณา ดังนั้นควรจะจบแล้ว ส่วนการที่ออกมาไม่พอใจเรื่องค่าแรง คือเรื่องของการเมือง ที่มีการเล่นการเมืองมากไป” นายธนิต กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image