ปธ.หอค้า รับได้อัพค่าจ้างขั้นต่ำ 2.37% ชี้หากขึ้น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ อาจได้ไม่คุ้มเสีย

ปธ.หอค้า รับได้อัพค่าจ้างขั้นต่ำ 2.37% ชี้หากขึ้น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ อาจได้ไม่คุ้มเสีย หวั่นกระทบต้นทุนเพิ่ม สุดท้ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจรับไม่ไหว

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกรณีรัฐบาลให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ ว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 โดยคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ในรูปคณะกรรมการไตรภาคีมีมติเป็นเอกฉันท์การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีในช่วง 2-16 บาท หรือประมาณ 2.37% ต้องยอมรับว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 พร้อมทั้งมีการศึกษาจากคณะกรรมการไตรภาคีจังหวัดได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบปัจจัยอื่นๆ ตามกฎหมายกำหนดโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม และสอดคล้องกับกฎบัตรองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

นายสนั่นกล่าวว่า สำหรับกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอกลับไปพิจารณาทบทวนเนื่องจากการนำหลักการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ อันเนื่องมาจากการใช้ฐานการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563-2564 นั้น ตลอดจน ความเป็นห่วงลูกจ้างและผู้ใช้แรงงาน ของท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่มาจากมติค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีครั้งนี้ อันมาจากความตั้งใจให้ลูกจ้างคนไทยมีรายได้ดีขึ้น และส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดไม่เหมาะสม ทั้งนี้ หอการค้าไทย ตระหนักดีถึงความเป็นห่วงของท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ให้มีความเหมาะสมในบางจังหวัดเพิ่มมากขึ้น

นายสนั่นกล่าวว่า หากจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ นั้น หอการค้าไทย ยังเห็นว่าไม่ควรปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงหลายด้านทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศจะได้ไม่คุ้มเสีย ส่งผลทำให้นายจ้างมีต้นทุนสูงขึ้นบางส่วนอาจรับไม่ไหวโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และอาจชะลอการจ้างงานลดพนักงานหรือกระทบภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจวงกว้าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้กลไกคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาให้เหมาะสมตามกรอบที่กฎหมายกำหนด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image