เงินเฟ้อก.พ. ลบ 0.77% ติดลบต่อเดือนที่ 5 พณ.ย้ำไม่ฝืด คาดดีดขึ้นเดือนพ.ค.

แฟ้มภาพ

เงินเฟ้อก.พ. ลบ 0.77% ติดลบต่อเดือนที่ 5 ย้ำไม่ฝืด พณ.ชี้ราคาอาหารสดและมาตรการคุมดีเซล-ค่าไฟ คาดดีดขึ้นพ.ค.

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย(เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เท่ากับ 107.22 และลดลง 0.77 % ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุเงินเฟ้อทั่วไปลดลง จากการลดลงของราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้ง น้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้า ราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคากุมภาพันธ์ปีก่อนอยู่ระดับสูง ขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกุมภาพันพ์ลดลง 0.77 % มาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.97% หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.63% โดยสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการ ราคาสูงขึ้น 264 รายการ เท่าเดิม 47 รายการ และลดลง 119 รายการ

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 0.43% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 0.52% ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป 2 เดือนแรก 2567 ลดลง 0.94 % แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน 2 เดือนแรกปีนี้สูงขึ้น 0.47%

Advertisement

“ ยังไม่ได้มองว่าเงินฝืด เพราะเงินฝืดอยู่ที่หลายปัจจัย ทั้งเงินเฟ้อพื้นฐาน และมาตรการรัฐในการลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเบื้องต้นเงินเฟ้อน่าจะยังลดลงต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน ไตรมาสแรกเงินเฟ้อลบ 0.7-0.8% และเริ่มบวกในเดือนพฤษภาคม ซึ่งฐานคำนวณเงินเฟ้อเริ่มต่ำลง และมาตรการรัฐหมดลง ทั้งค่าไฟ เชื้อเพลิง ต้องยอมรับว่ายังมีปัจจัยทำให้เงินเฟ้อผันผวนได้มาก “ นายพูนพงษ์ กล่าว

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนจาก1. มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน โดยการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และที่ 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนทั่วไป รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 2. ฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้าของเนื้อสุกรและผักสด 3. เศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1. สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 2. เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น 3.สภาพอากาศ ที่มีความแปรปรวนในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และ 4. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน

Advertisement

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% (ค่ากลาง 0.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้แก่ จีดีพีขยายตัว 2.7-3.7% ราคน้ำมันดูไบ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าบาท 34-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image