สตง.เปิดผลการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ด่านภูดู่–ม.นครพนม ใช้งบประมาณไม่ถูกต้อง

กลุ่มประชาสัมพันธ์และประสานราชการ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รายงานผลการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 24-26 มกราคม 2560) ได้พิจารณารายงานการตรวจสอบของ สตง. พบเจ้าหน้าที่หน่วยรับตรวจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.โครงการพัฒนาจุดผ่อนปรนช่องภูดู่เป็นด่านชายแดนถาวรสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 (จังหวัดลำปาง) ได้ตรวจสอบโครงการพัฒนาจุดผ่อนปรนช่องภูดู่ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ พบว่ามีการเบิกจ่ายเงินโดยสำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 131/2548 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2548 จำนวน 36,452,000 บาท และตามสัญญาจ้างเลขที่ 197-1553 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2553 จำนวน 41,899,000 บาท ดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ บริเวณตลาดการค้าชายแดนช่องภูดู่ และบริเวณกลุ่มอาคารศูนย์ราชการบ้านโคก (แห่งใหม่)

ผลปรากฏว่า การก่อสร้างระยะที่ 1 แล้วเสร็จ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์กว่า 8 ปี จำนวน 9 รายการ มูลค่า 13,107,445.53 บาท การก่อสร้างระยะที่ 2 แล้วเสร็จ แต่ไม่ได้ประโยชน์กว่า 3 ปี จำนวน 9 รายการ มูลค่า 22,531,148.72 บาท สาเหตุเกิดจากดำเนินโครงการโดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน ส่งผลให้มีการชุมนุมประท้วงคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถย้ายที่ว่าการอำเภอไปยังศูนย์ราชการใหม่ได้ และยังพบปัญหาการก่อสร้างระยะที่ 1 ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามแบบรายการ คณะกรรมการกำหนดราคากลางถอดแบบและจัดทำใบแจ้งปริมาณงานและราคางานก่อสร้างสำหรับงานป้อมยามบริเวณกักกันสัตว์เกินกว่าแบบแปลนก่อสร้างจำนวน 1 หลัง เป็นเหตุให้ทำสัญญาจ้างสูงกว่าราคาจริง จำนวน 99,453 บาท นอกจากนี้พบพฤติการณ์เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่แจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการซ่อมแซมเมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องภายในกำหนดระยะเวลาประกันตามสัญญา ทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณของทางราชการซ่อมแซม จำนวน 2,094,950 บาท

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จึงมีมติให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางวินัยและดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542

2.ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยนครพนม จ.นครพนม สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 (จังหวัดอุบลราชธานี) ได้ตรวจสอบสืบสวนกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีและเจ้าหน้าที่ ม.นครพนม จากการตรวจสอบพยานหลักฐานฟังได้ว่า การอนุมัติทุนการศึกษาให้แก่คณบดีและรองคณบดีวิทยาลัยบรมราชชนนี นครพนม มีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมเพื่ออนุมัติทุนการศึกษาดังกล่าว ไม่ครบองค์ประชุม แต่มีการจัดทำรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ ซึ่ง ม.นครพนม ได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยและดำเนินการทางละเมิดตามอำนาจหน้าที่แล้ว โดยคณะบดีได้คืนเงินทุนการศึกษาจำนวน 455,250 บาท แล้วจึงเห็นควรติดตามผลการดำเนินการทางละเมิดรายรองคณบดีต่อไป และแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการทางอาญากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ

Advertisement

กรณี ม.นครพนม แก้ไขสัญญาเช่ารถยนต์จากรถยนต์ใหม่เป็นรถยนต์ที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันที เห็นว่าเนื่องจากถูกจำกัดด้วยงบประมาณทำให้ไม่สามารถเช่ารถยนต์ใหม่ได้ จึงขอเช่ารถที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเป็นการแก้ไขให้ตรงตามข้อเท็จจริงตามที่ ม.นครพนม และผู้ให้เช่าได้ตกลงกันไว้แต่ต้น และไม่ได้ทำให้ราชการเสียหาย จึงมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการจัดจ้างในลักษณะการจ้างเหมาบริการรถยนต์พร้อมพนักงานขับรถ โดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป

กรณีคณะศิลปศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จัดเก็บค่าธรรมเนียมอื่น แล้วนำฝากเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งไม่ใช่บัญชีของ ม.นครพนม จำนวน 2 บัญชี เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายในคณะ โดยไม่นำส่งเป็นรายได้ของ ม.นครพนม นั้น พยานหลักฐานไม่พอฟังได้ว่าเป็นกระทำโดยทุจริตหรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของทางราชการ แต่การไม่ขออนุมัติหรือขอความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยก่อนการใช้จ่ายเงินดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ม.นครพนม ว่าด้วยรายได้ของมหาวิทยาลัย พ.ศ.2555 เห็นควรแจ้ง ม.นครพนม เพื่อพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อหาผู้รับผิดชดใช้เงินคืน ม.นครพนม ต่อไป

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จึงมีมติให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image