คิดเห็นแชร์ : ผ่าปัจจัยหนุน-ท้าทาย‘ภาคลงทุนไทย’ สนค.แนะเร่งเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

คิดเห็นแชร์ : ผ่าปัจจัยหนุน-ท้าทาย‘ภาคลงทุนไทย’
สนค.แนะเร่งเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดย FDI เป็นกลไกสำคัญ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ในการเพิ่มมูลค่าการส่งออก การจ้างงาน และการใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่มาสู่ไทย

ตามรายงานการติดตามการลงทุนโลก (Global Investment Trends Monitor, No.46) โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) พบว่า ปี 2566 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของโลกเพิ่มขึ้น 3% เทียบกับปีก่อนหน้าที่ระดับ 1.37 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากลดลง 12% ที่ระดับ 1.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 โดยมีสาเหตุหลักมาจากเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในยุโรปบางประเทศ (ลักเซมเบิร์กและเนเธอร์แลนด์) หากไม่รวมประเทศเหล่านี้ มูลค่า FDI ทั่วโลกลดลง 18%

ทั้งนี้ การลงทุนได้รับปัจจัยกดดันจากการลงทุนที่อ่อนแอและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก และคาดการณ์ว่าปี 2567 กระแสการลงทุนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยทิศทางอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการกู้ยืมในตลาดหลัก เป็นตัวบ่งชี้เสถียรภาพทางการเงินสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศ อีกทั้งมีปัจจัยเสี่ยงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ระดับหนี้ที่สูงในหลายประเทศ และผลกระทบจากการแบ่งส่วนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น

Advertisement

โดยมูลค่า FDI ในประเทศพัฒนาแล้ว เพิ่มขึ้น 29% ที่ 5.24 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่า FDI ในประเทศกำลังพัฒนา ลดลง 9% ที่ 8.41 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งสหรัฐเป็นประเทศที่ได้รับเม็ดเงินลงทุนมากสุดในโลก มูลค่า FDI ลดลง 3% และจำนวนโครงการลงทุนใหม่ ลดลง 2% จีน มูลค่า FDI ลดลง 6% แต่จำนวนโครงการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 8% อินเดีย มูลค่า FDI ลดลง 47% แต่จำนวนโครงการลงทุนใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า สำหรับอาเซียน มูลค่า FDI ลดลง 16%

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคอาเซียนยังมีความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนในภาคการผลิตสูง สะท้อนจากจำนวนโครงการลงทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นถึง 37% โดยโครงการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา จากข้อมูลการลงทุนในไทย พบว่า ช่วงสามไตรมาสแรกปี 2566 มูลค่า FDI ลดลง 50.7% ที่ 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการลงทุนในไทยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง จีน สหรัฐ ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ สำหรับประเภทธุรกิจที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การเงินและการประกันภัย 2.การผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ 3.ภาคอสังหาริมทรัพย์ 4.การผลิตอาหาร และ 5.การขายส่งและการขายปลีก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 ไทยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้น 38% มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.2% ของมูลค่าเงินลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และเพิ่มขึ้น 72% บ่งชี้ว่าแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยมีทิศทางที่ดี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย

อีกทั้งไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนภายนอกต่อการลงทุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและจีนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วที่ผ่อนคลายลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ปี 2567 ที่ 3.1% ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า รวมถึง GDP ของประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ในไทย อาทิ จีน สหรัฐ และสหราชอาณาจักร ที่ 4.6% 2.1% และ 0.6% ตามลำดับ และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ 5.8% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 6.8% โดยอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วชะลอตัวลงอย่างชัดเจนที่ 2.6% จากปี 2566 ที่ระดับ 4.6% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนายังอยู่ในระดับสูงที่ 8.1% จากปี 2566 ที่ระดับ 8.4% รวมถึงปัจจัยสนับสนุนภายในต่อการลงทุน ได้แก่ การที่ไทยมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งด้านห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมตั้งแต่ระบบการขนส่ง ระบบโทรคมนาคม ไปจนถึงการให้บริการด้านสาธารณูปโภค ซึ่งรวมถึงพลังงานสะอาด โดยปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค และเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ และรัฐบาลไทยได้พยายามผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะรองรับการลงทุนสีเขียว

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยท้าทายภายนอก ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ยังเข้มงวดในบางประเทศ และปัจจัยท้าทายภายใน ได้แก่ การที่ไทยมีประเทศคู่ FTA ไม่มากนัก จำนวน 19 ประเทศ รวมศรีลังกาที่ลงนามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างสิงคโปร์และเวียดนามที่มีประเทศคู่ FTA จำนวน 65 ประเทศ และ 54 ประเทศ ตามลำดับ และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของไทย ซึ่งส่งผลต่อจำนวนแรงงานในอนาคต

ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีแบบเร่งตัว ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ อันมีสาเหตุหลักมาจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยิ่งทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทย เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนข้ามชาติที่ต้องการขยาย/ย้ายฐานการผลิตออกห่างจากพื้นที่พิพาท และความสะดวกในการส่งออกสินค้าเข้าสู่ตลาดศักยภาพและตลาดใหม่ที่มีการเติบโตสูง ซึ่งทำให้ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ

ดังนั้น ไทยควรเร่งดำเนินการเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ 1.การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเชิงรุก โดยการเร่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ จากกลุ่มนักลงทุนข้ามชาติที่มีศักยภาพ รวมถึงการสร้างการรับรู้เชิงบวกในการลงทุนในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน

2.การอำนวยความสะดวกและการแก้ไขอุปสรรคในการลงทุน ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคชาวต่างชาติและผู้ติดตาม

3.การเร่งเจรจาจัดทำ FTA โดยเฉพาะการจัดทำ FTA กับตลาดที่มีศักยภาพสูงอย่างสหภาพยุโรป ซึ่งการมีคู่ประเทศ FTA เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

4.การเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน โดยในระยะสั้นและระยะกลาง ควรยกระดับแรงงานให้มีความรู้และทักษะขั้นสูง ดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ และอำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานกึ่งฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ในระยะยาว ควรมีการร่วมมือกันระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนในการวางแผนและปรับหลักสูตรการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงทักษะด้านภาษา

5.การพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการลงทุน โดยการส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการเร่งพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

6.การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานในด้านโลจิสติกส์ โดยการพัฒนาระบบการขนส่งทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ และระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมถึงการเร่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยการส่งเสริมการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตและปรับเพิ่มความเร็วเพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งภาคธุรกิจและภาคการศึกษา และด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการบริหารจัดการอุปทานด้านพลังงานไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งรวมถึงการจัดหาพลังงานสะอาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image