เจาะมหากาพย์ ‘วิน โพรเสส’ ถึงเวลาติดอาวุธ กม.โรงงาน!!

เหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด จ.ระยอง ในเช้าของวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเผาทำลายหลักฐาน คือ วัตถุอันตราย

หลังศาลจังหวัดระยอง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ให้บริษัท วิน โพรเสส จำกัด และ น.ส.วิชชุดา หรือใหม่ ไกรพงษ์ มีความผิดตามกฎหมายวัตถุอันตราย ปรับบริษัทฯ เป็นเงิน 450,000 บาท และ น.ส.วิชชุดา ให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปี โดยให้รายงานตัวคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง อีกทั้ง ให้บริษัทฯ และ น.ส.วิชชุดา ประสานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำจัดวัตถุอันตรายของกลางให้แล้วเสร็จในเวลากำหนดคุมประพฤติ โดยให้บริษัทฯ และ น.ส.วิชชุดา เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ทำความรู้จักที่มาที่ไปของ คดีวิน โพรเสส ให้มากขึ้น พบว่า ปี 2560 บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ตั้งอยู่ ม.4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) จำนวน 3 ใบอนุญาต ดังนี้

1.ใบอนุญาตประกอบกิจการอัดเศษกระดาษ เศษโลหะ เศษพลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป 2.ใบอนุญาตประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะ และ 3.ใบอนุญาตประกอบกิจการคืนสภาพกรดหรือด่าง ทำเชื้อเพลิงผสม และล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย

Advertisement

กระทั่ง การประกอบกิจการโรงงานของบริษัทฯ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนรอบโรงงาน ปี 2561 อำเภอบ้านค่าย จึงได้ตั้งคณะทำงานไตรภาคีแก้ไขปัญหา และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาและจัดทำแผนงานและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ดังกล่าวเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดย กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองลงพื้นที่ตรวจสอบ ตรวจวัดคุณภาพมลพิษต่างๆ ต่อเนื่อง พบว่า มีการจัดเก็บวัสดุต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว เศษฝุ่นคล้ายฝุ่นเหล็ก ภาชนะปนเปื้อน และมีร่องรอยการรั่วไหลของสารเคมี จึงดำเนินคดีและสั่งการให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการและทำการปรับปรุงแก้ไขโรงงาน

ต่อมา วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 บริษัทฯ ได้แจ้งเลิกการประกอบกิจการโรงงานทั้งหมด 3 ใบอนุญาต กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าไปตรวจสอบ พบว่า มีการจัดเก็บวัตถุอันตรายไว้ทั้งภายในและภายนอกบริเวณโรงงาน จึงสั่งการให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไขโรงงานเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ให้เดือดร้อนต่อประชาชนรอบโรงงาน

ระหว่างนี้ กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ร่วมกับคณะทำงานไตรภาคีประชุมแก้ไขปัญหามากกว่า 10 ครั้ง และร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบ ประเมินความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้น โดยหารือเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทฯ ร่วมกับ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถานีตำรวจภูธรบ้านค่าย ต่อเนื่อง

Advertisement

กระทั่ง วันที่ 25 มีนาคม 2564 ศาลจังหวัดระยอง มีคำพิพากษาถึงบริษัท และ น.ส.วิชชุดา

หลังคำพิพากษา กรอ.ได้เร่งรัดให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามแผนการกำจัดวัตถุอันตรายต่อเนื่อง แต่ช่วงต้น บริษัทฯ หาผู้รับจำกัดไม่ได้ ประกอบการกับผู้รับกำจัดไม่เชื่อมั่นสถานะทางการเงินบริษัทฯ กรอ.จึงเข้าไปเร่งรัดช่วยเหลือโดยประสานงานกับผู้รับกำจัด หารือแนวทางการกำจัดร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อีกทั้ง ได้แถลงต่อศาลเพื่อเร่งรัดบรรเทาความเสียหายของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ ได้นำของเสียไม่อันตรายบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในพิพากษาของศาลไปจำหน่าย เช่น เหล็ก พลาสติก เป็นต้น และได้นำเงินรายได้ดังกล่าวมาไว้ต่อศาลจังหวัดระยองประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดต่อไป

จากการเร่งรัดของศาลจังหวัดระยองและการกำกับของ กรอ. จึงได้ข้อสรุปโดย บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ทำการว่าจ้างบริษัท เอส.เค. อินเตอร์ เคมิคอล จำกัด เข้ากำจัดและบำบัดวัตถุอันตรายตามคำพิพากษาศาล โดย “นายจุลพงษ์ ทวีศรี” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อร่วมประชุมชี้แจงวิธีในการบำบัดและกำจัดของเสียของโรงงาน บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและชาวบ้านในพื้นที่ วันที่ 19 มกราคม 2566 พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าและแถลงสรุปแนวทางการจัดการของเสียต่อศาลจังหวัดระยองในวันเดียวกัน

นอกจากนี้ กรมโรงงานฯ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา เช่น การซ่อมคันดินเพื่อป้องกันการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนสารเคมีออกสู่พื้นที่ของชาวบ้าน ร่วมตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยบริษัท เอส.เค. อินเตอร์ เคมิคอล จำกัด ได้บำบัดกำจัดของเหลวและกากตะกอนในบ่อคอนกรีตภายในโรงงานแล้วประมาณ 240 ลูกบาศก์เมตร และบำบัดน้ำเสียไปแล้ว 34,500 ลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ยังล่าช้ากว่ากำหนด และสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญารับบำบัดกำจัดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยขอขยายระยะเวลาสัญญาอีก 5 เดือน

กระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในเช้าของวันที่ 22 เมษายน 2567 กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง จึงได้ลงพื้นที่สนับสนุนข้อมูลเชิงเทคนิค ปริมาณของเสีย สารเคมี และแผนผังบริเวณโรงงานต่อผู้อำนวยการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้และการอพยพชาวบ้านในพื้นที่ข้างเคียงไปพื้นที่ปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก กรอ.ทำการตรวจ วัด วิเคราะห์คุณภาพน้ำและอากาศอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง ได้ประสานงานและทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) สถานีตำรวจภูธรบ้านค่าย สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เพื่อเร่งสืบหาสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้

โดย กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ยังได้กำกับ ติดตาม และเร่งรัดให้บริษัท วินโพรเสส จำกัด บำบัดกำจัดวัตถุอันตรายตามคำพิพากษาศาลต่อเนื่อง กระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว โดยในส่วนของการจัดการของเสียที่เกิดจากเพลิงไหม้ในครั้งนี้ กรอ.จะแถลงต่อศาลจังหวัดระยอง ให้ กรอ.เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทฯ โดยขอเบิกเงินส่วนที่เหลือ 5 ล้านบาท ที่บริษัทฯ ได้วางไว้ต่อศาลมาจัดการของเสียที่ต้องได้รับการจำกัดเป็นกรณีเร่งด่วนก่อน และให้บริษัทฯ รับผิดชอบขนย้ายของเสียจากเหตุเพลิงไหม้ไปกำจัดและบำบัดต่อไป

แม้ กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองจะกำกับ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินการต่อเนื่อง แต่พบว่า หลายกรณีผู้ประกอบการมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือปฏิบัติด้วยความล่าช้า ไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษที่อาจพิจารณาได้ว่าน้อยเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายต่อประชาชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเข้าไปดำเนินการบำบัดกำจัดของเสียหรือวัตถุอันตรายต่างๆ แทนได้ โดยให้ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่พบว่า ผู้ประกอบการมักไม่ยินยอมให้รัฐเข้าไปดำเนินการแทน รัฐจึงต้องหาแหล่งงบประมาณดำเนินการแทนไปก่อนแล้วจึงฟ้องร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการในภายหลัง ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนซับซ้อนและใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน

อีกทั้ง หน่วยงานของรัฐไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนี้ไว้เป็นการเฉพาะ หรืออาจมีคำของบประมาณดังกล่าวแต่มักถูกปรับลดในท้ายที่สุด ทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณดำเนินการได้อย่างเพียงพอตามความจำเป็น ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญในการแก้ไขปัญหากรณีบริษัท วินโพรเสส จำกัด จ.ระยอง และบริษัท เอกอุทัย จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา มาโดยตลอด

ล่าสุดทราบว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตัดสินใจเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน จึงได้เสนอปรับแก้กฎหมายโรงงาน โดยการเพิ่มโทษการกระทำผิดให้มีโทษจำคุก และเพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด (เดิมมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท) เสนอให้วางเงินหลักประกันสำหรับโรงงานกำจัดกากของเสีย ให้ทำประกันภัยต่อสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการ

พร้อมจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อบรรเทาและระงับเหตุฉุกเฉิน เสนอให้โรงงานกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมต้องทำ EIA และเพิ่มบทบาทการกำกับดูแลและการตรวจสอบการประกอบกิจการของผู้รับกำจัดกากอุตสาหกรรม

ภารกิจแก้กฎหมายโรงงาน จะสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image