คลังเผย ปีงบ67 มีโครงการลงทุนใหม่แล้ว 2.5 แสนล้านบาท

คลังเผย ปีงบ67 มีโครงการลงทุนใหม่แล้ว 2.5 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณประจำรายจ่ายประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้แล้วนั้น ขณะนี้หน่วยงานของรัฐมีการลงนามในสัญญาโครงการลงทุนใหม่แล้ว 2.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แม้ว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะล่าช้ากว่ากำหนด แต่ในระหว่างที่ พรบ.งบประมาณรายจ่ายยังไม่มีผลบังคับใช้ ส่วนราชการที่มีโครงการลงทุน ได้เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่จัดทำ TOR การประกาศเชิญชวน และการเปิดประมูลโครงการ ยกเว้นการลงนามในสัญญา ซึ่งเมื่อพรบ.งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โครงการที่มีการประกวดราคาได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ก็ได้เริ่มลงนามในสัญญาทันที

นอกจากโครงการที่ลงนามในสัญญาไปแล้ว ยังมีโครงการที่ประกวดราคาไปแล้ว จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว แต่ยังไม่มีการลงนามในสัญญาอีกราว 7 หมื่นล้านบาท และอีกราว 1.6-1.7 แสนล้านบาท อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนการทำ TOR

Advertisement

ทั้งนี้ พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 26 เมษายนนี้ ซึ่งล่าช้ากว่าปฏิทินงบประมาณปกติถึง 7 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ 2567 มีจำนวน 3.48 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นงบลงทุนของรัฐบาล 7.17 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.6 % ของงบประมาณรายจ่าย

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า กรมบัญชีกลางได้ตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนไว้ที่ 75 % ของงบรายจ่ายเพื่อการลงทุน โดยกรมบัญชีกลางได้จัด Special Team จำนวนหลายทีม เพื่อให้สามารถดูแลกรมต่างๆที่มีงบลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาในกรณีที่เกิดปัญหาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ นอกจากนั้นกรมบัญชีกลางยังได้ออกหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการต่างๆที่มีโครงการลงทุน ซึ่งเป็นมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน

ทั้งนี้ มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของกรมบัญชีกลาง เช่น รายการลงทุนปีเดียวให้หน่วยรับงบประมาณ(เจ้าของโครงการ)พิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567 กรณี รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพัน(ทำสัญญา)ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567

Advertisement

และหากคาดว่ามีรายการงบประมาณที่จะไม่สามารถก่อหนี้ (ทำสัญญา) ได้ทันภายในปีงบประมาณ 2567 ให้หน่วยรับงบประมาณ (เจ้าของโครงการ) แจ้งสำนักงบประมาณ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันมิให้เงินพับตกไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ (งบพับตกไป คือการตัดงบประมาณของโครงการนั้นๆทิ้งไป กรณี ไม่สามารถทำสัญญาได้ทันในปีงบประมาณ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image