‘เศรษฐกิจไทย’ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิกฤตหนี้ ดอกแพง แบงก์หนืดกู้

‘เศรษฐกิจไทย’ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิกฤตหนี้ ดอกแพง แบงก์หนืดกู้

ย่างเข้าเดือนที่ 2 ของไตรมาส 2 ปี 2567 แล้ว แต่ดูเหมือนภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังคงซึมเศร้า เข้าสู่โหมดโตต่ำลงทุกไตรมาส จากที่เคยคาดการณ์ก่อนขึ้นปี 2567 มั่นใจเศรษฐกิจมีโอกาสจะขยายตัวได้แน่ 3% แต่ยิ่งนานวันๆ ความมั่นใจของหน่วยงานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจลดลงเรื่อยๆ จนล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สนค.) กระทรวงการคลัง ประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 เหลือขยายตัว 2.4% จากเดิมเดือนมกราคม 2567 ประมาณการขยายตัวที่ 2.8% โดยยกปัจจัยหลักว่ามาจากการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัว ประกอบกับภัยแล้ง และปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ขย่มภาคการเกษตร หากไม่เจอผลผลิตเสียหายไม่เท่าเดิมก็มีรูปทรง หรือน้ำหนักต่อผลน้อยลงจากการขาดน้ำ

แต่พลันที่งบประมาณปี 2567 เริ่มบังคับใช้ หลังจากดีเลย์ร่วม 7 เดือนมาแล้ว ทำให้หลายฝ่ายมองตรงกัน จะเป็นอีก “เครื่องยนต์หลัก” ที่จะมาปั๊มเศรษฐกิจไทยในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ นอกจาก “การท่องเที่ยว” ที่เส้นกราฟเริ่มเชิดหัวต่อเนื่องจากปี 2566 โดยประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่จะผันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกหลายแสนล้านบาท จะสร้างความคึกคักให้เศรษฐกิจที่ซึมในขณะนี้ได้ไม่น้อย แม้มีเวลาใช้จ่ายแค่ 5 เดือนก็ตาม

ขณะที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นำโดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและขุนคลังคนใหม่ของรัฐบาลเศรษฐา ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ทำให้นักธุรกิจเริ่มมีความหวัง จะมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น แม้รัฐบาลจะมีโจทย์ใหญ่ สุดท้าทายรออยู่ ไม่ว่าการบูสต์การส่งออก แก้หนี้ครัวเรือนที่พุ่งทะลุ 90% และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ถึงแม้ธนาคารจะพร้อมใจหั่นอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปีแต่เป็นการบรรเทาแค่เฉพาะกลุ่ม และในเวลาแค่ 6 เดือน ขณะที่สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการและเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั่นคือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

Advertisement

⦁ภาวะ‘เศรษฐกิจไทย’ยังเหนื่อย
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ประเมินว่า ดูจากตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2567 แล้วค่อนข้างเหนื่อย โดยไตรมาสแรกยังอ่อนแอต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2566 เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ดีเลย์มากเลยฉุดการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ภาคการผลิตยังหดตัวต่อเนื่อง จากการส่งออกที่หดตัว เลยทำให้มีการลดกำลังการผลิต ในกลุ่มรถยนต์กับฮาร์ดดิสต์ที่ได้รับผลกระทบมาก ทำให้การผลิตหดตัวต่อเนื่องมา 1 ปีแล้ว ล่าสุด เดือนมีนาคมหดตัว 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า

“ภาวะเศรษฐกิจในประเทศแผ่ว จากการบริโภค เกิดจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยปรับขึ้นในระดับสูง ซึ่งครึ่งปีแรก ยังคงหนืดต่อเนื่อง เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ งบประมาณเพิ่งบังคับใช้ คาดว่าจะเริ่มมีการเบิกจ่ายเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ซึ่งเลยช่วงปลายไตรมาส 2 ไปแล้วถึงจะกลับมาดีขึ้น ทำให้ในครึ่งปีหลังมีตัวฉุดรั้งการเติบโตเริ่มเบาลง ส่วนภาคการผลิตต้องดูแนวโน้มการส่งออก คาดหวังว่าจะดีขึ้น และทำให้การผลิตจะกลับมาดีขึ้นบ้าง ดังนั้น มองว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง น่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก มีแรงหนุนจากงบประมาณ ภาคการผลิต การท่องเที่ยว รวมถึงนโยบายการคลังจากโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ถ้าออกมาได้น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังได้” พิพัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม “พิพัฒน์” ระบุว่าการฟื้นตัวยังต้องเผชิญอีกหลายปัญหา ไม่ว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงเข้มงวด และระมัดระวังอยู่ เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนยังสูง โดยปัญหาภาวะหนี้สูง การปล่อยกู้หนืด ยังเป็นโจทย์ใหญ่เศรษฐกิจในปีนี้ แต่ที่เป็นโจทย์ใหญ่และเป็นโจทย์ระยะยาวด้วย คือ ขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เนื่องจากการลงทุนต่างประเทศใหม่ๆ ยังไม่ค่อยมายังประเทศไทย จากการที่มีคู่แข่งมากขึ้น สินค้าส่งออกไม่เก่งเหมือนในอดีต โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่เป็นคู่แข่ง

Advertisement

“ตอนนี้ปัญหาใหญ่ คือ ยังมองไม่เห็น อะไรที่จะเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากเมื่อก่อนเป็นภาคการส่งออก เมื่อ 10 ปีก่อนจะเป็นการท่องเที่ยว แต่ในปี 2567 ยังหาไม่เจอ ยังนึกไม่ออกว่าอะไรจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัว หลังจากลดต่ำลงเรื่อยๆ” พิพัฒน์กล่าว

“พิพัฒน์” ยังระบุว่า ปี 2567 นี้ KKP ประเมินจีดีพีจะเติบโต 2.6% ยังไม่รวมโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต แต่ถ้ารวมคาดว่าจะเติบโตใกล้ 3% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ยังมีหลายอย่างเป็นตัวฉุดรั้ง ยังมีเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เดิมคิดว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ เศรษฐกิจจะดี แต่ก็มีปัญหางบประมาณล่าช้า คงต้องรอดูผลลัพธ์ปลายปีนี้ จากเงินดิจิทัลและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

⦁‘หนี้พุ่ง-ปากท้อง-ดอกแพง’ต้นเหตุ
ขณะที่ อลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ระบุว่า ถ้ามอง 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายในประเทศ ยังรอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น นโยบายเงินดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งต้องรอความชัดเจน และมาตรการอื่นๆ ที่จะออกมาหลังเงินดิจิทัล วอลเล็ต ล่าสุด ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเตรียมจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ขณะที่งบประมาณปี 2567 รัฐบาลอยู่ในช่วงเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อให้งบออกมากระตุ้นเศรษฐกิจให้มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นงบประจำ งบลงทุนยังมีไม่มาก ส่วนงบประมาณปี 2568 น่าจะเริ่มได้ในไตรมาส 4 ดังนั้น มองภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ มีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐและเอกชนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ส่วนปัจจัยภายนอก “อลงกต” ย้ำยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวนจากสงคราม ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะกดดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง คาดว่าอีกนานกว่าจะปรับลดลง

“ช่วง 8 เดือนที่เหลือนี้ ยังมีโจทย์ใหญ่หลายโจทย์ที่รัฐบาลต้องเจอ ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มภาระของลูกหนี้ ไม่สอดรับกับรายได้ ซึ่งภาครัฐพยายามช่วยบรรเทาผ่านสมาคมธนาคาร จนสามารถออกมาตรการลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่เป็นการช่วยบรรเทามากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ” อลงกตกล่าว

พร้อมกันนี้ ยังกล่าวถึงสถานการณ์บ้านมือสองว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ลูกหนี้ที่ผ่อนต่อไม่ไหว จะปล่อยให้ธนาคารยึด โดยคาดว่าปีนี้จะมีบ้านมือสองไหลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ขณะเดียวกันที่อยู่อาศัยราคาต่ำ 3 ล้านบาท กำลังซื้อยังมีปัญหาถูกปฏิเสธสินเชื่อ หรือรีเจ็กต์เรตสูง 40-50% อีกทั้งเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ มีโอกาสเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลได้

“อลงกต” ประเมินภาพรวมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2567 จะเป็นไปตามภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยมองว่าผู้ประกอบการน่าจะเร่งการโอนกรรมสิทธิ์ คาดว่าตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังมีการเติบโต 5-10% เนื่องจากคนยังมีความต้องการจะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง แต่ติดปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยกู้

ฝั่งนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร วสันต์ เคียงศิริ ชี้โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล คือ การเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทำให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังดูไม่ดี ส่งออกติดลบ จีดีพีโตต่ำ 3% โดยรัฐบาลพยายามหาทางกระตุ้น รวมถึงออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจช่วยได้ระดับหนึ่ง ยังมีเงินดิจิทัล วอลเล็ต จะออกมาในไตรมาส 4 นี้ อย่างไรก็ดี ในระหว่างรอเงินดิจิทัลในช่วง 5 เดือนนี้ ภาครัฐต้องมีมาตรการระยะสั้นออกมากระตุ้น อาจเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีก็ได้ ด้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ กระทบต่อการบริโภคและค่าครองชีพแน่นอน จากต้นทุนสินค้าต่างๆ ที่ปรับราคาขึ้น

“ดูจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ มีความรู้ ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ มีเวลาทำงานเต็มที่ มีความหวังว่าจะมีมาตรการออกมากระตุ้นให้เศรษฐกิจที่ซึมให้ดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดี จะส่งผลไปถึงตลาดอสังหาฯดีตามไปด้วย โดยหวังว่าปีนี้ตลาดจะไม่ทรุดตัวไปมากกว่าปีที่แล้ว” วสันต์กล่าว

⦁จี้มาตรการ‘ควิกวิน’บูสต์รอดิจิทัล
ด้าน อุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ประเมินแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังซึมต่อเนื่องจากไตรมาสแรก และยังต้องเฝ้าระวัง เพราะยังไม่มีมาตรการกระตุ้น ขณะที่การส่งออกติดลบ แต่มีข้อดีภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น งบประมาณปี 2567 จะเริ่มมีการเบิกจ่าย แต่ต้องไปรอวัดผลในไตรมาส 3 ส่วนไตรมาส 4 มีเงินดิจิทัล วอลเล็ต มาช่วยกระตุ้นในช่วง 6 เดือน ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2568

“โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องเผชิญ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซึมให้ฟื้น ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังไม่ลด ในแง่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังมีเรื่องกู้แบงก์ไม่ผ่าน ซึ่งแสนสิริมียอดรีเจ็กต์เรตในทุกระดับราคาอยู่ที่ 6-7% ที่ไม่สูง เพราะมีบ้านราคาแพง แต่ถ้าโฟกัสเฉพาะบ้านต่ำ 3 ล้านบาท อยู่ที่ 10-20% ยังไม่สูงมาก เป็นผลจากเรามีพรีแอพปรู๊ฟก่อน” อุทัยกล่าว

สอดคล้องกับ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย มองว่า โจทย์ใหญ่รัฐบาล ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวให้ได้ โดยออกนโยบายควิกวิน หมุนเงินเข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะงบประมาณปี 2567 โครงการที่ค้างท่อ ต้องเร่งรัดโดยเร็ว เพราะเหลือเวลาใช้งบแค่ 5 เดือน จากนั้นไตรมาส 4 จะมีเงินดิจิทัล วอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท มากระตุ้นต่อ ถ้ารัฐบาลสามารถผลักดันออกมาได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ส่วนการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่รัฐทำอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้หลังหลุดเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดโกลด์เด้นท์วีคชาวจีน จะเข้าสู่โลว์ซีซั่น

“ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ ดูดีขึ้น แต่มีปัจจัยโลกเข้ามา มีสงครามภัยแล้ง ทำให้การพลิกฟื้นเศรษฐกิจเป็นโจทย์ยากขึ้น ถ้านโยบายการคลังโดยกระทรวงการคลังและนโยบายการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ไปในทางเดียวกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า จะทำให้ผ่านไปได้ โดย ธปท.ต้องปรับมุมมองใหม่ นอกจากดูเสถียรภาพการเงิน ก็ต้องดูปากท้องของประชาชนด้วย” ประเสริฐกล่าว

พร้อมขยายความว่า อย่างการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าลดลงได้จะเป็นการดี เพราะดอกเบี้ยเป็นต้นทุนที่สำคัญ หากดอกเบี้ยปรับขึ้นหรือลง 1% ส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ 11% ทั้งขาขึ้นและขาลง โดยแยกเป็นฝั่งลูกค้า 8% และผู้ประกอบ 3% อย่างไรก็ดี ดูจากท่าทีล่าสุดของเฟดที่คงอัตราดอกเบี้ยแล้ว แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยคงจะปรับลดลงยาก

“ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มองว่าเป็นเหรียญสองด้าน กระทบต่อต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น แต่ช่วยประคองเศรษฐกิจ เพราะเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ซึ่งธุรกิจก็ต้องยอมแบกต้นทุน ลดกำไร เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า ขณะที่ราคาบ้าน ด้วยกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ คงไม่ใช่เวลาจะปรับขึ้นราคา” ประเสริฐกล่าว

คงต้องรอดูฝีมือ “ขุนคลังพิชัย” แม่ทัพเศรษฐกิจใหม่ รัฐบาลเศรษฐาจะปล่อยคาถาพาเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตถาโถมไปตลอดรอดฝั่งได้มากน้อยขนาดไหน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image