สรท. โอดขึ้นค่าแรง 400 บาท ห่วงต้นทุนกระฉูดอุตฯล้ม ขอรัฐบาลทบทวนใหม่

สรท. โอดขึ้นค่าแรง 400 บาท ห่วงต้นทุนกระฉูดอุตฯล้ม ขอรัฐบาลทบทวนใหม่-แนะทำตามกลไกไตรภาคี

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยการปรับค่าแรงต้องพิจารณาให้รอบด้านและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง โดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวม เนื่องจากมีข้อพิจารณาสำคัญประกอบด้วย

  1. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากัน 400 บาท ทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและใช้ทักษะไม่สูง อาทิ อาหาร เกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนและเวียดนามที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ จะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยเฉพาะต่อคู่แข่งสำคัญ
  2. ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน (โปรดักทิวิตี้) จะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคการผลิต ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานน้อยกว่า 1% สะท้อนผลิตภาพที่เปราะบาง
  3. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะกระทบอุตสาหกรรมเดิม หรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงได้ในเวลาอันสั้น

นายชัยชาญกล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารจัดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ดังนี้

  1. ควรปรับค่าแรงและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (คณะกรรมการไตรภาคี) ในแต่ละพื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงค่าครองชีพที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และผลิตภาพของแรงงาน และต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวม
  2. ขอให้พิจารณาปรับค่าแรงอย่างรอบคอบและปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
  3. การปรับค่าแรงต้องสอดคล้องกับฝีมือแรงงาน โดยรัฐต้องสนับสนุนเรื่องผลิตภาพรวม และทักษะด้านนวัตกรรมของแรงงานไทยให้ชัดเจน
  4. ควรตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับบริษัทที่ต้องเสริมสภาพคล่องสำหรับจ้างแรงงานมีฝีมือมาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้การแข่งขัน

“ผู้ผลิตมีการลงทุนในอุตสาหกรรมมายาวนานและมีการปรับปรุงการดำเนินงานต่อเนื่อง และขอความสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เพราะห่วงโซ่อุตสาหกรรมมีหลากหลายบริษัท ต้องดูแลควบคุมเรื่องต้นทุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนั้น ถ้าผลิตภาพการผลิตดีทั้งทั้งซัพพลายเชนจะส่งผลต่อทั้งห่วงโซ่อุปทานดีทั้งหมด รัฐควรเน้นหนักเรื่องเงินทุนสนับสนุน การปรับปรุงเครื่องจักรอย่างจริงจัง ให้สอดคล้องกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น” นายชัยชาญกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image