ฟังเสียงสะท้อน 54 สมาคมการค้า ชี้เหตุคัดค้านขึ้นค่าจ้าง อัตราเดียว 400 บาททั่วไทย

ฟังเสียงสะท้อน 54 สมาคมการค้า ชี้เหตุคัดค้านขึ้นอัตราเดียว 400 บาททั่วไทย

จากการที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมกับหอการค้าทั่วประเทศ 5 ภาค สมาคมสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น 54 สมาคม นำโดยนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดแถลงแสดงจุดยืนภาคเอกชนคัดค้านค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

และเสนอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ในวันที่ 7 พฤษภาคมนั้น ได้มีผู้ประกอบการในทุกภาคออกมาแสดงความเห็น และระบุถึงสาเหตุที่ออกมาร่วมคัดค้าน ในครั้งนี้

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีสมาคม องค์กรภาคเอกชน ที่แสดงความจำนงค์ที่จะร่วมลงนามคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทอัตราเดียวทั่้วประเทศ ซึ่งในรอบแรกนี้สามารถยื่นความจำนงค์ได้ถึง 12 พฤษภาคม เพื่อนำความคิดเห็น ผลกระทบที่จะได้รับจากการปรับ 400 บาท และข้อเสนอ จัดทำเป็นจดหมายไปยื่นและเข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีในวันที่ 14 พฤษภาคม อีกทั้งในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.)ในวันที่ 8 พฤษภาคม ก็จะนำเรื่องผลกระทบและกระแสคัดค้านจากสมาคมการค้าต่างและหอการค้า 5 ภาค หารือในการประชุมกกร. ซึ่งเชื่อว่าภาคธุรกิจในกกร. จะเห็นแสดงจุดยืนร่วม และจัดทำเป็นเอกสารยื่นให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาลในนาม กกร. อีกครั้ง

Advertisement

” ภาคเอกชนเราไม่เคยปฎิเสธรัฐบาลในด้านต้องการเพิ่มรายได้ให้แรงงาน แต่ต้องคิดให้รอบด้านถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากแค่ไหน ที่มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคเกษตร ภาคบริการ และเอสเอ็มอีก่อนกลุ่มอื่นๆ และอัตราเพิ่มควรให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กฎระเบียบใช้กันอยู่ ตอนนี้การแข่งขันเป็นเรื่องใหญ่ไปทั่วโลก ส่งออกขยายตัวได้ต่ำ ต้นทุนขนส่งยังสูง ผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนกดดันผู้ประกอบการมากแล้ว หากเพิ่มภาระด้านแรงงานที่ยังไม่พร้อม ที่หวังจะเพิ่มรายได้ จะกลายเป็นศรย้อนกลับให้ทุกคนต้องมีภาระเพิ่มจากราคาสินค้าและค่าบริการสูงขึ้น สุดท้ายแรงงานก็ไม่ได้อะไรเพิ่ม ก็คิดกันเองว่าสุดท้ายภาระที่เราๆแบกรับเพิ่มจะไปตกที่ใคร การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ คาดหวังว่ารัฐบาลจะรับฟังและนำไปทบทวนในที่สุด ” นายพจน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากที่สำรวจหอการค้าและภาคธุรกิจ สะท้อนว่า 50% ระบุว่ายังรับไม่ได้กับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท เพียง 40% ปรับตัวได้เพราะจ่ายค่าแรงงานสูงกว่า 400 บาทแล้ว และในการสำรวจสะท้อนว่าแต่ละพื้นที่มีความเป็นธรรมชาติเกี่ยวกับต้นทุน และค่าครองชีพที่ไม่เท่ากัน การปรับขึ้น 400 บาทจะกระทบต่อโครงสร้างแรงงานแต่ละจังหวัดระดับตั้งแต่ 8-23 % สะท้อนได้ว่าบางจังหวัดจะเกิดแรงกระชากอย่างรุนแรง เทียบกับจีดีพี 3 ปีย้อนหลังมานี้ จีดีพีโตรวมกันแค่ 6% แต่ปัจจัยทุกอย่างต่อจีดีพีขยับมาก ทั้งเงินเฟ้อ ต้นทุนต่างๆ แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่ เหมือนอยู่แค่ปากเหว โดยผู้ประกอบการสะท้อนว่า หากแบกรับไม่ไหว ต้องลดการจ้างงาน หันใช้เครื่้องจักรแทนมากขึ้น และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การปรับแรงงานทั้งประเทศ 400 บาท กังวลมาก โดยกระทบโดยตรงต่อธุรกิจเองและซัพพลายเชน การปรับค่าแรงไม่ถูกตามกฎหมายและระยะยาวมีแต่ข้อเสีย ได้แก่ 1. ถ้าจ้างงานไม่ไหว ก็จะลดแรงงาน จะมีคนตกงาน กลับมาเป็นปัญหาให้รัฐบาลและสังคมต้องดูแลต่อไป 2. ลดการขยายตัวทางธุรกิจ และการลงทุน ระยะสั้นจะเกิดภาวะช็อตไม่น้อยกว่าครึ่งปีจากใชัอัตราใหม่ที่สูงเกินรับไหว จะเกิดการฟรีซการจ้างงานระยะยาว 3. ประชาชนแบกรับการปรับราคาสินค้าหรือบริการ เพราะต้นทุนธุรกิจสูง จะสะท้อนไปกับราคาสินค้าและค่าบริการ กลายเป็นวงจรค่าครองชีพที่ดีดตัวสูง กระทบประชาชนทุกคน แม้จ่าย 400 บาท แต่แบกรับค่าใชัจ่ายแพงขึ้น แรงงานก็ไม่ได้อะไรเพิ่ม คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่แรงงานโดยตรง 4. เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มแน่นอน ตอนนี้เงินเฟ้อต่ำ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมองว่าจะลดดอกเบี้ยได้ไหม หากขึ้นค่าแรงดันเงินเฟ้อสูงขึ้น โอกาศปรับลดดอกเบี้ยจะต่ำลง

Advertisement

” รัฐบาลต้องดูผลกระทบทั้งวงจร ซึ่ง 3 เรื่องที่รัฐควรทำ คือ 1.รัฐควรทบทวนนโยบายการปรับอัตราแรงงานสูงเกินรับไหว 2. ศึกษากฎหมายให้รอบด้าน และ3.คุยกับบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย “นายอธิป กล่าว
ตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และตัวแทน 5 สมาคมด้านแปรรูปอาหารทะเล กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปจากวัตถุดิบทะเล มีอยดส่งออกปีละ 4 แสนล้านบาท และเฉลี่ยจ้างงาน 360 บาทต่อวัน โดยมีสวัสดิการและค่าใช้จ่ายให้แรงงาน รวมกันจะสูงกว่าวันละ 400 บาทอยู่แล้ว แต่หากขยับค่าแรงงานเป็น 400 บาทและบวกกับสวัสดิการต่างๆ จะเป็นการเพิ่มต้นทุนและลดขีดความสามารถการส่งออก รายได้ลดลง ต้องลดการรับซื้อวัตถุดิบจากชาวประมง หรือผู้เลี้ยงไก่ จึงไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงงาน 400 บาททั่วประเทศ

ตัวแทนจากสมาคมผู้เลี้ยงไก่ ระบุว่า ต่อปีไทยส่งออกไก่กว่า 1 แสนล้านบาท และต้นทุนตอนนี้ยังแข่งขันได้กับประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลกอบ่างบราซิล แต่หากต้นทุนเพิ่มและราคาสินค้าส่งออกไทยเพิ่ม ประเทศนำเข้าก็หันไปประเทศอื่นแทนไทย จึงเสนอให้ปรับค่าแรงตามไตรภาคีจังหวัดจะดีกว่า และปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

ตัวแทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา กล่าวว่า ไทยส่งออกสินค้าจากยางพาราปีละ 2 แสนล้านบาท คู่แข่งสำคัญคืออินโดนีเซีย และหากต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ซึ่งช่องว่างระหว่างแรงงานภาคเกษตรและอุตสาหกรรมยังสูง หากหลายจังหวัดค่าแรงสูงแต่ต้นทุนค่าครองชีพต่ำ ก็จะเกิดการเคลื่อนย้านแรงงาน ซึ่งเกษตรยางพารามีแรงงาน 7 ล้านคน หากปรับค่าแรงงาน กลุ่มนี้เกรงว่าจะย้ายไปภาคอุตสาหกรรม กระทบต่อซัพพลายเชน ทั้งระบบ

ตัวแทนจากสมาคมไม้และเฟอร์นิเจอร์ ระบุว่า กลุ่มนี้ส่งออกปีละ 1 แสนล้านบาท ทั้งหมดเป็นเอสเอ็มอี ในอดีตเคยปรับครั้งใหญ่ 300 บาททั่วประเทศ ครั้งนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ทยอยปิดตัวกว่า 50% ครั้งนี้ก็วิตกว่า จะซ้ำรอย และวิตกว่าจะทำลายบรรยากาศการดึงการลงทุนต่างชาติมาไทยหายไปหมด
ตัวแทนจากสมาคมก่อสร้างไทย ระบุว่า ก่อสร้างมีมูลค่าสะพัด 1.3 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานสูงถึง 4 ล้านคน และการปรับค่าแรงงาน 400 บาท เบื้องต้นจะปรับอีก 5-8% บวกกับต้นทุนอื่นที่สูงขึ้่นรวมแล้ว 8-21% แต่จะปรับราคาค่าก่อสร้างเท่านั้นก็คงไม่ได้ ที่สำคัญคือจะขาดแคลนแรงงานที่จะย้ายไปภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น หรือ ย้ายกับจังหวัดที่ค่าใช้จ่ายต่ำ ซึ่งจากสถิติกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนว่าบริษัทก่อสร้างขนาดเล็กในไทยปิดตัวปีละ 2 พันราย เพราะแบกรับต้นทุนและแข่งขันไม่ได้

ตัวแทนจาก 18 องค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการอาชีพรักษาความปลอดภัย ระบุว่า ในระบบอาชีพนี้มีกว่า 4 แสนคน และ 70% เป็นต้นทุนจากค่าจ้างแรงงาน หากปรับค่าแรง 8-20% ทั่วประเทศ จะทำให้เกิดการชะลอการจ้างของลูกค้า และอาจมี 10% ต้องว่างงานหรือ 4 หมื่นคนทันที จึงคัดค้านจะปรับค่าแรง 400 บาท
ตัวแทนจากสมาคมตลาดสด ระบุว่า ตอนปรับค่าแก๊สหุงต้ม ก็มีร้านอาหารจานด่วนจะปรับขึ้นเมนูละ 5 บาท ซึ่งเจ้าของตลาดได้พูดคุยและดูโครงสร้างจานด่วน ก็เห็นว่าค่าแก๊สขึ้นกระทบเล็กน้อย ไม่ควรขึ้น 5 บาท แต่หากปรับค่าแรง 400 บาท ขึ้นอีก 8-20% อาจดันอาหารสูงกว่า 5-10 บาท

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image