โกลเบล็กแนะจับตามองปัจจัยกระทบหุ้นไทยใกล้ชิด คาดดัชนีผันผวนออกข้าง วิ่งขึ้นสุด 1,420 จุด

โกลเบล็กแนะจับตามองปัจจัยกระทบหุ้นไทยใกล้ชิด คาดดัชนีผันผวนออกข้าง วิ่งขึ้นสุด 1,420 จุด

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินว่า ทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม 2567 มีแนวโน้มแกว่งตัวในลักษณะไซด์เวย์ออกข้าง หลังจาก FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สะท้อนถึงความกังวลว่า เงินเฟ้อของสหรัฐจะยังไม่ปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% โดยล่าสุดสหรัฐเปิดเผยมีการรายงานตัวเลขขาดดุลการค้าลดลง 0.1% สู่ระดับ 6.94 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.91 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 0.2% ในเดือนมีนาคม สวนทางที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากทรงตัวในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 192,000 ตำแหน่ง ในเดือนเมษายน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 183,000 ตำแหน่งหลังจากเพิ่มขึ้น 208,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ระดับ 1,350-1,420 จุด

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือ การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อย่างใกล้ชิด และการรายงานตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจ โดยกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง ครึ่งแรกปี 2567 (ตุลาคม 2566 ถึงมีนาคม 2567) อยู่ที่ 1.16 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 27,819 ล้านบาท เนื่องจากกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ พร้อมปรับลดเป้าจีดีพีปี 2567 ใหม่ เหลือโต 2.4% จากเดิม 2.8% สาเหตุจากการส่งออกหดตัว ภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบผลผลิตสินค้าเกษตร

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.19% ในเดือนเมษายน ของไทยพลิกบวกครั้งแรกหลังจากติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานการณ์พลังงานในตลาดโลก ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2567 ซีพีไอลดลง 0.55% ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุจากฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในระดับต่ำ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ โดยคาดเงินเฟ้อไตรมาส 2/2567 ขยายตัวในช่วง 0.8-1.0% และช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะเป็นบวกต่อเนื่องด้วย

Advertisement

“ต้องจับตาปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นการลงทุนต่อเนื่อง อาทิ สมาชิกภาพของวุฒิสภาครบวาระ 5 ปีนับจากวันแต่งตั้ง วันที่ 15 พฤษภาคม กำหนดวันสุดท้ายในการส่งงบการเงินงวดไตรมาส 1/2567 วันที่ 20 พฤษภาคม สภาพัฒน์แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ส่วนปัจจัยต่างประเทศ อาทิ สหรัฐรายงานสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมีนาคม และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ จีนรายงานดุลการค้าเดือนเมษายน ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย สหรัฐรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนไหขวขิงดัชนี” นางสาววิลาสินี กล่าว

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า แนะนำกลยุทธ์การลงทุนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากตัวเลขการส่งออกสินค้าในเดือน มีนาคม 2567 ที่ยังเติบโตได้ รวมทั้งกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนของไมโครซอฟท์ที่จะเข้ามาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image