‘คุณหญิงกษมา’ ถอดรหัส การเรียนรู้แบบสับ พลิกโฉม ร.ร.ให้มีสีสัน นำ BBL ออกแบบสนามเด็กเล่น

‘คุณหญิงกษมา’ ถอดรหัส การเรียนรู้แบบสับ พลิกโฉม ร.ร.ให้มีสีสัน นำ BBL ออกแบบสนามเด็กเล่น

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) หรือ OKMD จัดงาน 20 years of Thailand Knowledge Creation: Past and Future

บรรยากาศเวลา 13.00 น. น.ส.ปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายมณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของ OKMD โดยมี ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD พร้อมด้วย นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ร่วมให้การต้อนรับ ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติคับคั่ง

Advertisement

ต่อมาเวลา 14.10 น. เริ่มเสวนา หัวข้อ “20 years of Thailand knowledge creation: Past” นำโดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี,พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพล อดีตผู้อำนวยการ OKMD, คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตประธานกรรมการ OKMD

คุณหญิงกษมา ได้กล่าวถึงความสำคัญของกลไกสมองต่อการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ ว่า เรื่องแรกคิดว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย พอเราได้รู้เรื่องของกลไกของสมอง เราค้นพบว่าจริงๆ แล้วเริ่มตั้งแต่ในครรภ์ของมารดา

“เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ 18 สัปดาห์ สามารถฟังเสียงได้ เรียนรู้จากการได้ยิน จากการฟังเสียงแม่ และที่สำคัญ ช่วงที่สำคัญที่สุด คืออายุ 0-5 ขวบ ก่อนเด็กจะเข้าโรงเรียน

Advertisement

เพราะฉะนั้นการที่เราฝากความหวังไว้ทั้งหมดกับโรงเรียน ซึ่งการศึกษา อาจจะเป็นความหวังที่ไม่สมจริง เพราะว่าความแตกต่างระหว่างเด็กก่อนเข้าโรงเรียนเขาเริ่มจากที่บ้าน ตั้งแต่ในครรภ์มารดาแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก” คุณหญิงกษมากล่าว

คุณหญิงกษมา กล่าวต่อไปว่า หากใครจำรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนชัดเจนว่า เรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก่อนประถมศึกษา ไปจนถึงการศึกษาภาคบังคับ

“รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น ในปี 2540 และ ปี 2550 ได้พูดกว้าง ๆ ว่า เรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 12 ปี ไม่ได้บอกว่าเท่าไหร่ แต่รัฐบาลกระทรวงศึกษา ให้ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อมาก็มีการขยายเป็น 15 ปี

ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2560 พูดชัดเจน เพราะมีกระแสช่วงเดียวกันว่าเด็กเกิดน้อย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าเด็ก 0-5 ขวบ ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด คิดว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก

นอกจากนี้ ก็มีกระแสอื่นๆ ตามด้วย เช่น เด็กมาถึงโรงเรียนก็ต่างกันแล้ว ซึ่งมีข้อมูลที่ชัดเจนมากของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่า เด็กมาถึงโรงเรียนพัฒนาการภาษาเขาต่างกันโดยสิ้นเชิง คลังคำในสมองของเขาไม่เหมือนกัน เด็กคนใดที่อยู่ในครอบครัวที่มีการพูดคุย การอ่านหนังสือให้ฟัง และร้องเพลง เขาจะมีคลังคำมหาศาล ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดการตื่นตัว

คุณหญิงกษมา เปิดเผยว่า มี พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่ง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้มีการพูดถึงเฉพาะเด็ก หรือคุณครู แต่กับไปพูดถึงหญิงที่มีครรภ์ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงความคิด และนโยบายที่คิดว่าเป็นผลพวงแรก นอกจากนี้ เกิดการพลิกโฉมโรงเรียนอนุบาล ประถมศึกษา

“ในสมัยนั้นโรงเรียนจะมีสีสันมากขึ้น เพราะเด็กต้องรู้สึกว่าอยากสดใส อยากมาโรงเรียน และคุณครูก็ต้องมีความอบอุ่น ทำให้รู้สึกปลอดภัย โดยได้เรียนรู้จากการถอดรหัสของ OKMD โดยอยากยกย่อง อ.พรพิไล เลิศวิชา และทีมงาน ที่ถอดรหัสออกมา ว่าถ้าจะเรียนรู้อย่างมีความหมาย เด็กมีความสุข และได้ประโยชน์ตามที่เราต้องการมีอะไรบ้าง

ซึ่งได้มีการเผยแพร่ไปยังโรงเรียน โดยร่วมกันทำประมาณ 900 กว่าโรงเรียน ให้เกิดขึ้นจริง และมีการฝึกอบรม ดังนั้นจึงคิดว่าดีเอ็นเอเหล่านั้นยังฝังรากกับคุณครูจำนวนมาก ได้เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด และถึงแม้เราจะไม่ได้พูดถึงเรื่องกลไกของสมอง แต่ดีเอ็นเอเหล่านั้น ยังฝังรากไว้ทุก ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น” คุณหญิงกษมาเผย

คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า เมื่อก่อนเราจะพูดว่า Education for all, All for Education แต่ในปัจจุบันเราจะพูดว่า Learning for all, All for Learning

“จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ใหม่ที่ออกมาเมื่อปี 2566 พูดเรื่อง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ โดยอุดมการณ์ได้เปลี่ยนไป ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของรัฐจัด แต่ทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันที่จะจัดเรื่องนี้ ซึ่ง OKMD ก็เริ่มด้วยการทำห้องสมุด อย่าง TK PARK” คุณหญิงกษมากล่าว

คุณหญิงกษมากล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่ชื่นชมเช่นเดียวกัน คือ สามารถนำคอนเซปต์ เรื่อง Brain-Based Learning (BBL) ไปออกแบบเป็นสนามเด็กเล่น ซึ่งน่าสนใจมาก โดยสามารถไปชมที่โรงเรียนอนุบาลวัดธาตุทอง

“ไม่น่าเชื่อว่าโรงเรียนที่มีพื้นที่เล็กๆ จะสามารถทำสนามเด็กเล่นที่มีสีสัน และท้าทาย เพราะฉะนั้นเด็กสามารถทำในสิ่งที่ตื่นเต้น ผจญภัยแต่ปลอดภัย และให้แง่คิดด้วย จริงๆ แล้วเราได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ก่อนประถมศึกษา และในระดับวัยรุ่น วัยทำงาน รวมไปถึงวัยผู้สูงอายุก็มีอะไรที่สามารถทำได้อีกมาก ซึ่งอาจจะเป็นโจทย์สำหรับในอนาคต” คุณหญิงกษมากล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image