ผู้ปกครองกระอัก เหนื่อยขึ้น 43.1 % พิษของแพงเปิดเทอม จี้รัฐบาลลดเหลื่อมล้ำ

ผู้ปกครองกระอัก เหนื่อยขึ้น 43.1 % พิษของแพงเปิดเทอม จี้รัฐบาลลดเหลื่อมล้ำ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลการสำรวจผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมปี 2567 สำรวจจำนวนตัวอย่าง 1,365 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-6 พฤษภาคม 2567 พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดเทอมครั้งนี้ เทียบปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 43.1% เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น มีจำนวนสินค้าที่ต้องซื้อมากขึ้น และมีจำนวนบุตรที่เริ่มเข้าโรงเรียนเพิ่ม

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 2567 อยู่ที่ 6.03 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากปี 2566 ถือว่ามีมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุด นับตั้งแต่ ม.หอการค้าสำรวจมาตั้งแต่ ปี 2553 หรือในรอบ 15 ปี ส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าแพงขึ้น ขณะดียวกันประชาชนก็ยังใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซา เพราะงบประมาณปี 2567 เบิกจ่ายล้าช้า

“ภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้แย่ แต่ยังไม่คล่องตัว ไม่ฟื้นเต็มที่ โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกลงมาเมื่อเดือนที่แล้ว และบรรยากาศช่วงสงกรานต์เศรษฐกิจมีอาการช็อต ซึม ภาคธุรกิจบอกว่ายอดขายอืดๆ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินที่ไม่ได้ออกมา 1 ปี มีผลอย่างเต็มที่ตอนนี้ และงบประมาณที่ออกมาแล้วตอนนี้ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากบรรยากาศช่วงเปิดเทอมสะท้อนว่า ผู้ปกครองยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย” นายธนวรรธน์ กล่าว

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเล่าเรียนบุตร พบว่า 59.9% ค่าเทอมเพิ่มขึ้น ขณะที่งบค่าหนังสือ ค่าบำรุงโรงเรียน งบค่าบำรุงโรงเรียนแรกเข้า งบค่าเครื่องเขียน งบค่ารองเท้า ถุงเท้า เพิ่มขึ้น เป็นต้น ไม่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.53 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 1.95 หมื่นบาท โดยส่วนใหญ่ 46% มองว่าค่าใช้จ่ายเท่าเดิม

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นอกจากนี้การสำรวจก็ยังพบว่าผู้ปกครองมีเงินไม่พอใช้ 45.6% ซึ่งแก้ปัญหาโดยการผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต การจำนำทรัพย์สิน และการกู้เงินระบบ ทั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากมองว่าเศรษฐกิจแย่ แต่เป็นลักษณะของการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขณะที่ฝั่งผู้ปกครองที่ตอบว่ามีเงินใช้เพียงพอ ระบุว่าต้องใช้เงินออมเพื่อใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม

“การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 43% เหตุผลมาจากความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายมากกว่าความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ เพราะมองจากปริมาณการซื้อชุดนักเรียน ถุงเท้าและรองเท้า พบว่ามีปริมาณการซื้อเท่าเดิม 51.8% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเปิดเทอม มีเพียงหนังสือเรียนที่ซื้อเพิ่ม 34.5% และชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวช้า” นายธนวรรธน์ กล่าว

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มผู้ปกครอง ได้สะท้อนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการศึกษาของไทยในปัจจุบัน 5 ข้อ ดังนี้ 1.เพิ่มบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะคุณครูให้มีจำนวนที่เหมาะสมในการดูแลนักเรียน 2.ปรับการเรียนการสอนโดยเฉพาะวิชาแกน เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้น่าสนใจ ใช้ในการปฏิบัติควบคู่ทฤษฎี 3.สร้างความตระหนักรู้ให้กับเยาวชนเกี่ยวกับสิ่งเสพติดต่าง ๆ รวมทั้งโรงเรียนควรสอดส่องให้เข้มงวด

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า 4.ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาทั้งอุปกรณ์และการเรียนการสอน ความรู้ ทักษะ ความคิดต่าง ๆ และ 5.พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้เท่าทันกับโลก และสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ และสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“นอกจากนี้รัฐบาลควรปรับปรุงการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสำคัญมาก เด็กควรจะมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ความรู้พื้นฐานไอที และภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน พร้อมใช้นโยบายธนาคารหน่วยกิจเพื่อสนับสนุนให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาจากที่ใดก็ได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมควรร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ”นายธนวรรธน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image