“คอลลิเออร์ส”เตือนผู้บริโภคระวังติดหล่มหากเกาะกระแสซื้อคอนโดเพื่อลงทุน-แบงก์เข้มปล่อยกู้ห่วงทิ้งใบจอง

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย เปิดเผย ในงานเสวนา ” อสังหาฯ ยุค 4.0 : differentiate or die ” ซึ่งจัดโดยบริษัท พร๊อพทูมอร์โรว์ จำกัด ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในตลาดที่อยู่อาศัย เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยชะลอตัว กำลังซื้อลดลง ความเชื่อมั่นคนไทยลดลงตามปัจจัยลบต่างๆ รวมไปถึงเหตุการณ์ที่นอกเหนือความคาดหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งล้วนมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้การที่คนไทยจำนวนหนึ่งอยู่ในภาวะที่มีหนี้ครัวเรือนมากเกินไปก็มีผลโดยตรงต่อการใช้จ่ายและการขอสินเชื่อธนาคารเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มคนระดับกลางลงไปหรือกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน

“จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าของตนเองโดยการเปิดขายโครงการในระดับราคาสูงขึ้นหรือว่าเพิ่มสัดส่วนโครงการระดับกลางขึ้นไปมากขึ้น”นายสุรเชษฐกล่าว
นายสุรเชษฐกล่าวว่า นอกจากนี้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่จับมือกันพัฒนาโครงการร่วมกันรวมไปถึงการร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติเพื่อเป็นพันธมิตรร่วมกันในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหรือโครงการรูปแบบอื่น ผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่นั้นมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเพื่อการสร้างรายได้แบบต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการรายเล็กหรือหน้าใหม่หลายรายเริ่มมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องของเงินทุนเพราะติดขัดที่ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและไม่มีช่องทางการระดมทุนแบบรายใหญ่ นอกจากนี้ผู้ประกอบการทุกรายมีการเฝ้าระวังเรื่องของโอเวอร์ซัพพลาย อีกทั้งมีธนาคารต่างๆ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่คอยควบคุมจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับคนทั่วไป ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายที่เปิดขายโครงการในพื้นที่เมืองชั้นในมีการออกไปเปิดขายโครงการที่ต่างประเทศเพื่อจะได้เข้าถึงผู้ซื้อต่างชาติโดยตรงรวมไปถึงมีการใช้บริการนายหน้าต่างชาติในการขายในต่างประเทศมากขึ้นแม้จะเสียค่าคอมมิชชั่นสูงๆ ก็ตาม

“ผมว่าผู้ซื้อทั่วไปต่างหากที่ควรปรับตัวเพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมากระแสการลงทุนในคอนโดมิเนียมนั้นค่อนข้างรุนแรง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยอยากจะลงทุนในคอนโดมิเนียมบ้างโดยเฉพาะการลงทุนระยะสั้นแบบเก็งกำไรใบจองทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาติดขัดเพราะมีผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยทิ้งใบจองไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องมีการประนีประนอมกับทางผู้ซื้อกลุ่มนี้ ผู้ประกอบการหลายรายจึงมีปัญหาเรื่องของยูนิตเหลือขายที่สร้างเสร็จ จึงต้องมีการจัดโปรโมชั่นลดราคามากขึ้น จัดกิจกรรมหรืองานต่างๆ เพื่อระบายยูนิตเหล่านี้ออกไปให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงมีการปล่อยขายแบบบิ๊กล็อตในราคาพิเศษให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ” นายสุรเชษฐ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image