‘ผ้าย้อมมูลควาย’ ชุบชีวิตชาว ‘นาเชือก’

จากผลกระทบของการสร้างเขื่อนน้ำอูน อ.พังโคน จ.สกลนคร ทำให้ชาวบ้าน นาเชือก กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จนต้องอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ และไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และจำเป็นต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปเป็นแรงงานในจังหวัดต่างๆ รวมถึง ต่างประเทศในแถบตะวันออกกลาง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ในปี พ.ศ.2540 ชาวบ้านนาเชือกจึงต้องกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด และประกอบอาชีพเสริมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตจากภาคการเกษตรนั้นได้ผลผลิตต่ำ นางวายสุนีย์ ไชยหงสา และชาวบ้าน จึงเดินทางไปกราบขอคำแนะนำจาก พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาภิญโญภิกขุ ท่านได้แนะนำให้ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ ที่มีความแตกต่าง และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการใช้เปลือกไม้ก็ต้องทำลายต้นไม้ จนกลายมาเป็นการย้อมมูลควาย

ในเวลาต่อมา กลุ่มผู้นำบ้านนาเชือกจึงได้เข้ามาพบคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และได้เห็นบรรจุภัณฑ์ไม้ไผ่ของ ดร.เดือนรุ่ง สุวรรณโสภา จึงขอให้ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องของการสร้างอาชีพ โดยเริ่มต้นจากเทคนิคการย้อมสีฝ้ายให้สม่ำเสมอ จากปราชญ์ชาวบ้านที่มาให้คำแนะนำ อบรมให้กลุ่มผ้าย้อมสีธรรมชาติ แล้วพัฒนาเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ และหมู่บ้านราชมงคล นำไปสู่ 1 ใน 11 หมู่บ้านท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยธรรมชาติที่งดงามและมีวัฒนธรรมชุมชนที่มีความเอื้ออารีต่อกัน

Advertisement

ผศ.ดร.สุดารัตน์ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เปิดเผยว่า ภายหลังวิกฤตฟองสบู่แตก ผู้ใหญ่บ้านนาเชือกและ พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาภิญโญภิกขุ ได้เข้ามาที่คลินิกเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และได้พบกับผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ที่เป็นงานต้นแบบจากการวิจัยและพัฒนาของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร พระอาจารย์จึงขอคำแนะนำเรื่องการสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านนาเชือก

แต่เดิมคนในชุมชนประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์และการทอผ้า การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งมีการพัฒนามาเป็น ผ้าย้อมมูลควาย มีสีสันแปลกตา แต่ลักษณะของสีผ้ายังไม่มีความสม่ำเสมอ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร จึงหยิบเอาอัตลักษณ์ของบ้านนาเชือกและขอการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมมูลควาย จนกลายเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2553 และยังมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการทำผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมมูลควาย โดยกลุ่ม “ก็ฝ้าย” จนมีชื่อเสียง และได้รับคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ Unseen Thailand ในปี พ.ศ.2556

Advertisement

ในส่วนกระบวนการผลิตผ้าย้อมมูลควาย ประกอบด้วย เส้นด้าย หรือเส้นฝ้าย สีย้อมฝ้ายหรือย้อมด้าย ที่มาจากสีธรรมชาติ อาทิ มูลควาย เปลือกไม้ และดิน โดยนำเส้นฝ้ายมาตรวจสอบความเหมาะสมและทำความสะอาด หลังจากนั้นจึงนำเส้นฝ้ายไปย้อมสีตามต้องการ และนำมาทำความสะอาดโดยการซักล้างให้สีที่ตกค้างออกไป แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง ขั้นตอนต่อมาคือการนำมาปั่นเข้าหลอดเพื่อนำไปเป็นเส้นพุ่งในการทอ ส่วนที่หนึ่งนำไปเข้าหลักเฝือ ตามขนาดที่ต้องการของความกว้างยาวของเส้นยืน แล้วจึงนำเส้นด้ายไปต่อเข้าฟีมและนำเข้ากี่เพื่อทอต่อไป

ปัจจุบันผ้าย้อมมูลควายกลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับสมาชิก พร้อมการจัดแสดงสินค้าตามหน่วยงานต่างๆ อาทิ งานโอท็อป งานนิทรรศการที่จังหวัด ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เกิดผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ หมวก เสื้อ ที่นอนเพื่อสุขภาพ กระเป๋า รวมถึง ตุ๊กตาควายที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของผ้าย้อมมูลควายบ้านนาเชือกอีกด้วย

บ้านนาเชือกยังมีการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านเชิงท่องเที่ยวและบูรณาการการศึกษาโดยส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวร่วมกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร โดยมีการบูรณาการโครงการวิจัยร่วมกับโครงการหมู่บ้านราชมงคล ในการส่งเสริม และเตรียมความพร้อมการพัฒนาหมู่บ้านนาเชือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อให้พุทธมามกะเข้ามาปฏิบัติธรรมในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ

รวมถึง การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านนาเชือก ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านนาเชือก เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรื่องกี่ และมีพื้นที่สำหรับตากฝ้ายหลังการย้อมผ้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image