อดีตผอ.ศิลปากรลพบุรี เปิดอก ปม ‘วัดไลย์’ เผยอดีตส.ส. นำทีมทาสีทอง ยันเคยแจ้งความ-ส่งจม.เจ้าอาวาส แต่ถูกเมิน

ภาพเล็ก-จารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ในฐานะอดีตผอ.สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี

สืบเนื่องกรณี นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร สั่งการให้ขูดสีทองบนผนังด้านนอกของอุโบสถวัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรีอย่างเร่งด่วน กระทั่งเกิดกระแสการตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาเหตุใดกรมศิลปากรจึงไม่ทราบว่ามีการทาสีทอง หรือเป็นการเพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าว เพราะวัดแห่งนี้ทาสีทองมาแล้วถึง 6 ปี (อ่านข่าว อธิบดีกรมศิลป์เยี่ยม ‘วัดไลย์’ ลพบุรี เจอโบสถ์สีทอง สั่ง ‘ขูด’ ทิ้งด่วน-ทามาแล้ว 6 ปี วัดเผย ‘ไม่รู้ต้องแจ้งก่อน’)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 14.00 น. ‘มติชนออนไลน์’ ได้สอบถามไปยัง นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ในฐานะอดีตผอ.สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว

นายจารึก เปิดเผยว่า  ในช่วง พ.ศ.2557 ตนเข้ารับตำแหน่งผอ.สำนักศิลปากรในพื้นที่ดังกล่าว พบว่ามีการทาสีอุโบสถวัดไลย์เป็นสีทองแล้ว โดยได้รับทราบข้อมูลว่านางมานิตา เขื่อนขันธ์ ผอ.สำนักฯ คนก่อนหน้าตน เคยมอบหมายให้นายช่างประจำสำนักฯ เข้าแจ้งความไว้ที่สภ. ท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ใน พ.ศ.2556 เนื่องจากเป็นความผิดตาม พรบ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่วัดไลย์ 10 พ.ย.61 สั่งขูดสีทองด่วน

ต่อมา ตนเดินทางลงพื้นที่หลายครั้ง และได้ส่งหนังสือถึงเจ้าอาวาสขอให้ระงับการดำเนินการดังกล่าว เพราะพบว่าหลังการทาสีทองครั้งนั้น ยังมีการทาซ้ำอีกอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เป็นผลเช่นกัน ส่วนตัวอยากให้มีการดำเนินการทางกฎหมาย เนื่องจากเป็นคดีอาญา ยังไม่หมดอายุความ อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผอ.สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรีคนปัจจุบันว่าจะตัดสินใจอย่างไร

Advertisement

“กลุ่มคนที่มาทาสีทอง คือ คนมีหน้ามีตาของลพบุรี เป็นอดีตสส. พาพรรคพวกมา วัดกับชาวบ้านเลยเกรงใจ ตอน ปี 2556 ผอ.ศิลปากรคนก่อนหน้าผม เคยให้นายช่างไปแจ้งความไว้ที่ สภ.ท่าวุ้ง แต่คนกลุ่มนี้ไม่หยุด ยังทาไปเรื่อย ๆ จนเสร็จ และยังมาทาซ้ำอีกเรื่อยๆ ผมต้องคอยลงพื้นที่ไปดู และหนังสือถึงเจ้าอาวาสขอให้ระงับ พอเผลอๆ ท่านก็ให้คนมาทาสีอีก ไม่ฟังกรมศิลป์เลย สีทองที่เอามาทา เป็นสีน้ำมัน เลยลอก ต้องทาใหม่เรื่อยๆ ในขณะที่การบูรณะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จะต้องทำความสะอาดผิวปูน ส่วนไหนที่ผุกร่อนต้องกะเทาะ แล้วฉาบใหม่ คนโบราณใช้สีน้ำปูน เดิมเป็นสีขาว โบสถ์หลังนี้ น่าจะสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่สร้างบนพื้นที่โบสถ์เก่า ใกล้กับวิหารเก้าห้องสมัยอยุธยา วัดนี้เป็นอารามสำคัญ รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จที่นี่ด้วย” นายจารึกกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image