กลุ่ม’CHES’เล็งฟ้องศาล หาก ป.ป.ช.ยกเว้น กก.สภา ยื่นบัญชีทรัพย์สิน

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรับนิยามผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิ้น และตำแหน่งใดไม่ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน ล่าสุดนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า มาตรา 44 มีผลให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ 28 แห่ง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการกองทุน แต่สำหรับนายกสภาและกรรมการสภา ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเดิมที่ยังไม่ออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง ต้องรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไปว่าจะต้องยื่นบัญชีหรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม นพ.สุธีร์ รัตนมงคลกุล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ร่วมกับที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) , ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่ง (ทป.มรภ.) และกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย (สธม.) จะเข้าพบเพื่อหารือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ กรณีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 21/2561 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายแสดงบัญชีทรัพย์สินของกรรมการสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากตัวแทนจากกลุ่มต่างๆดังกล่าวข้างต้นมีความกังวลใจต่อปรากาศ คสช. ที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับการเอื้อให้เกิดการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายแสดงบัญชีทรัพย์สินกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย จึงอยากพบ ป.ป.ช.เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ไม่ทำให้เกิดอภิสิทธิ์ชนและความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบ อีกทั้งเพื่อให้กำลังใจ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เกิดศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อประชาชน

“พวกเราอยากให้ ป.ป.ช.รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเรา ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่รู้ปัญหาในมหาวิทยาลัยบ้าง ทั้ง ป.ป.ช.เองก็มีคดีทุจริตต่างๆ ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นจริงในมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งมาจากการขาดธรรมาภิบาลของผู้บริหารสูงสุดในองค์กร เราจึงอยากให้ ป.ป.ช.ออกประกาศโดยคำนึงเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญในการปราบปรามการทุจรติต่างๆ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา หากสถาบันการศึกษายังมีการทุจริต ประเทศชาติก็ไม่พัฒนา อย่างไรก็ตามหาก ป.ป.ช.ยังคงเมินเฉย หรือ ออกประกาศที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พวกเราก็อาจจะต้องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญต่อไป” นพ.สุธีร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image