38 มรภ.จับมือผลิตครู 4 ปี ยันเสร็จทัน ‘ทีแคสรอบ2’แน่

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สวนสุนันทา นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ “การใช้หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ” โดยมี นายวีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) อธิการบดีและคณบดี คณะครุศาสตร์ มรภ.ทั้ง 38 แห่งเข้าร่วม ว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ในการพัฒนาการผลิตครูร่วมกันของประเทศ ขณะนี้ครูมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการพัฒนากำลังคน และ มรภ.ทั้ง 38 แห่ง ถือเป็นรากเหง้าของความเป็นครู การร่วมมือกันครั้งนี้จะทำให้ มรภ.เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในการผลิตครูในอนาคต

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ตนพบว่ารูปแบบการเรียนรู้ต่างๆ ผู้เรียนที่เป็นคนรุ่นใหม่มีทักษะในการเรียนรู้ต่างจากนักเรียนในอดีตมาก ดังนั้นประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลาการผลิตครู 4 ปี หรือ 5 ปี แต่อยู่ที่การเรียนการสอนต้องปรับใหม่ เพื่อเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ปรับการเรียนรู้ให้อิงสมรรถนะ เพื่อผลิตครูที่มีคุณภาพ และเมื่อมาวิเคราะห์ว่าการผลิตครูต้องใช้ระยะเวลากี่ปี และพบว่าใช้ระยะเวลาผลิตครู 4 ปี เพียงพอแล้ว เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา แน่นอนว่าการเรียนรู้ทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่การเรียนครูเท่านั้นที่ระยะเวลาการเรียนจะลดลง โลกปัจจุบันต้องการคนที่มีสมรรถนะ ดังนั้นต่อไปการเรียนรู้ในสาขาวิชาอื่น อาจจะลดระยะเวลาเรียนด้วย เช่น มหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์ ที่ขณะนี้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี 3 ปี เท่านั้น

“ครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2 ใน 3 เป็นครูที่จบมาจาก มรภ. เรารอไม่ได้แล้ว จะต้องปรับคุณภาพของครูใหม่ และประจวบว่าระยะเวลาในการเรียน 4 ปีนั้นเพียงพอ เพราะเราไม่ได้ตั้งต้นว่าจะสอน 4 ปี หรือ 5 ปี เรียนกี่ปีก็ได้ขอให้มีคุณภาพ มีสมรรถนะ ในอนาคตทุกอย่างจะถูกแทนด้วยเทคโนโลยีการเรียนบางสาขา หรือบางอาชีพ อาจจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี แต่สิ่งที่นักศึกษาสามารถทดแทนได้ คือความสามารถในการปรับตัวของผู้เรียน ว่าจะเพิ่มทักษะ อัพเกรดตนเองอย่างไร ดังนั้น ครูที่เราบ่มเพาะใหม่ จะต้องเป็นครูที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ไม่ใช่ครูที่มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เท่านั้น ต้องมีสรรถนะ มีทักษะ ดูแลและเข้าถึงลูกศิษย์ ครูที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกับนักเรียนได้ สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้ลูกศิษย์ได้ จะต้องเป็นครูที่ใฝ่รู้ พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเน้นน้ำว่าหลักสูตรครู 4 ปี ต้องมีแบบนี้ เพื่อให้ได้ครูที่สามารถวางรากฐานของนักเรียนในทุกระดับชั้นได้” นพ.อุดม กล่าว

นายรัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา ประธานคณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ. กล่าวว่า หลักสูตรผลิตครู 4 ปี จะมีรายละเอียดที่ต่างจากหลักสูตรผลิตครู 5 ปี คือจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสตรูจากเดิม 160 หน่วยกิต เหลือไม่น้อยกว่า 140 หน่วยกิต และการออกไปปฏิบัติการสอนของนักศึกษาจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษาที่ 1 – 3 และในปีการศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 นักศึกษาจะเข้าไปฝึกสอนในโรงเรียน เครือข่ายของ มรภ.ทั้ง 38 แห่ง ขณะนี้ หลักสูตรผลิตครู 4 ปี จัดทำเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะส่งหลักสูตรให้ มรภ.38 แห่ง เพื่อให้ไปปรับและออกแบบเพื่อให้เข้ากับบริบทของสถาบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีระยะเวลาในการปรับหลักสูตรถึงต้นเดือนมีนาคม 2562 เพื่อให้ทันระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562 รอบ 2 โควต้า

Advertisement

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image