วธ. จัดงาน ‘วันภาษาไทย‘ เผย ‘เท่ง เถิดเทิง – ปาน ธนพร-พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์’ ซิวเพชรในเพลง (คลิป)

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่โถงชั้น 1 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการ วธ. กล่าวในการเป็นประธานแถลงข่าว “วันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2562” โดยมีนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัด วธ. ผู้บริหาร วธ. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 100 คน ว่า วธ.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม ประจำปี 2562 โดยปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทย และเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมที่ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) และกรมศิลปากร (ศก.) ได้คัดเลือกบุคคลและองค์กร เพื่อรับเข็ม โล่เชิดชูเกียรติและมอบรางวัล เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ดังนี้ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 1 รางวัล ได้แก่ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์, ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น 17 รางวัล, ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 12 รางวัล, ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประกอบด้วย ประเภทบุคคล คือ รศ.สืบพงศ์ ธรรมชาติ และประเภทองค์กร ได้แก่ กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ชมรมโจ๊กปริศนาพนัสนิคม และศุมาสถาบันภาษาและวัฒนธรรม

Advertisement

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ส่วนรางวัลเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน พุทธศักราช 2562 จำนวน 10 รางวัล, รางวัลการประกวดเพลง เพชรในเพลง 12 รางวัล ดังนี้ 1.รางวัลเชิดชูเกียรติ ประกอบด้วย รางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินเพชรในเพลง ได้แก่ น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร), รางวัลเชิดชูเกียรตินักร้องเพลงอมตะ ได้แก่ เรือเอกหญิงสมศรี ม่วงศรเขียว, รางวัลเชิดชูเกียรติรายการโทรทัศน์ส่งเสริมภาษาและศิลปวัฒนธรรมไทย ได้แก่ รายการคุณพระช่วย, รางวัลเชิดชูเกียรติวงดนตรีสร้างสรรค์ภาษาไทยในเพลง ได้แก่ วงดิอิมพอสซิเบิ้ล 2.รางวัลประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลงให้รักเป็นคำตอบ ผู้ประพันธ์ นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงเหงาจนเงาหนี ผู้ประพันธ์ นายพงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ หรือ เท่ง เถิดเทิง, รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่ เพลงสำนึก ผู้ประพันธ์ นายพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์

3.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ เพลงกลับมาตรงนี้ ผู้ขับร้อง นายอุเทน พรหมมินทร์ ,รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ เพลงเพลงพรแผ่นดิน ผู้ขับร้อง น.ส.ณัฐธิกา เอี่ยมท่าไม้ ,รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ เพลงตำนานอโยธยา ผู้ขับร้อง นายธนพล สัมมาพรต หรือแจ๊ค ธนพล,รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ เพลงหอบฝันสู่เมืองใหญ่ ผู้ขับร้อง น.ส.พลอยชมพู ลอมเศรษฐี หรือ ปะแป้ง พลอยชมพู และรางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย ได้แก่ เพลงเช’2018 ผู้ขับร้อง นายยืนยง โอภากุล

นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทยและเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการอ่าน การเขียน การพูด พุทธศักราช 2562 และนิทรรศการรางวัลเพชรในเพลง พร้อมกันนี้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือหายาก คือ หนังสือจินดามณี ฉบับหมอบรัดเลย์ และหนังสือวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งได้รวมพิมพ์เรื่อง โบราณศึกษา ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) ไว้ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้ร่วมงานด้วย

Advertisement

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่ วธ.ได้ประสานขอความร่วมมือสถานทูตประจำประเทศไทย โดยเชิญชวนเอกอัครราชทูต และผู้แทนสถานทูตแต่ละประเทศถ่ายทำวิดีทัศน์รณรงค์การใช้ภาษาไทย ซึ่งขณะนี้มีสถานทูตหลายประเทศส่งวิดีทัศน์ร่วมกิจกรรม เช่น อเมริกา อังกฤษ อิสราเอล และซูดาน เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญคือเสริมสร้างความสัมพันธ์เกียรติภูมิและภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อนำความเป็นไทยสู่สากล และจะมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานทูตที่ร่วมกิจกรรมด้วย

“อยากให้คนไทยทุกคนรับรู้ว่าวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวันสำคัญของชาติด้านอื่นๆ และอยากให้คนไทยทุกคนภาคภูมิใจในภาษาไทย เป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นอารยะธรรมและความเจริญ สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่จะเน้นเรื่องความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ภาษาไทยเป็นส่วนช่วยที่ทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนภูมิใจ และในการแถลงนโยบายรัฐบาลจะมีเรื่องเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในพหุสังคมที่มีความหลากหลาย และเรื่องการใช้ภาษาด้วย สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีที่มีความเจริญมากขึ้น หรือการรับเอาวัฒนธรรมต่างๆ เข้ามามากขึ้น ทำให้การใช้ภาษาไทยมีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และจะทำให้คุณค่าของภาษาไทยลดลง วธ.จึงอยากจะเน้นย้ำผู้ที่คิดสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง คำกลอน ภาพยนตร์และในสื่อต่างๆ อยากให้เน้นถึงความหมายที่แท้จริงของภาษาไทยด้วย” นายอิทธิพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image