เฉียด 4 ล้าน ซ่อมจิตรกรรมวัดเสนาสนารามฯ เผยภาพสำคัญ ‘ร.4’ ทอดพระเนตรสุริยุปราคา

เฉียด 4 ล้าน ซ่อมจิตรกรรมวัดเสนาสนารามฯ เผยภาพสำคัญ ‘ร.4’ ทอดพระเนตรสุริยุปราคา

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีการเปิดเผยความคืบหน้าโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดเสนาสนารามฯ ซึ่งล่าสุดเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วหลังดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2561

น.ส.กรอุมา นุตะศรินทร์ นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญการพิเศษ กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า วัดเสนาสนารามฯ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดคู่พระราชวังจันทรเกษม เดิมไม่มีพระภิกษุจำพรรษา คล้ายกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ เมื่อเสียกรุง พ.ศ.2310 จึงค่อยๆ ทรุดโทรมลง กระทั่งต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ตามลำดับ โดยมีการขยายพื้นที่วัด สร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม อาทิ กุฏิสงฆ์

ต่อมาเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554 โบราณสถานต่างๆ ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังซึ่งได้รับความชื้น ในการนี้ กรมศิลปากรจึงจัดทำโครงการอนุรักษ์โบราณสถาน 3 หลังได้แก่ พระอุโบสถ, วิหารพระอินทร์แปลง และวิหารพระพุทธไสยาสน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือ ช่อง 7 HD รวมค่าใช้จ่ายในการบูรณะเกือบ 4 ล้านบาท ใช้ช่างฝีมือและบุคลากรจากกรมศิลปากรทั้งหมดเกือบ 20 คน

Advertisement

“จิตรกรรมในพระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยภาพพระราชพิธีสองสองเดือนซึ่งวาดระหว่างช่องหน้าต่าง บริเวณมุมเป็นภาพปลงอสุภะ ส่วนบนเสาเขียนลายพันธุ์พฤกษา นอกจากนี้นังมีภาพเทพชุมนุม และภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงส่องกล้องชมสุริยุปราคาในพระบรมมหาราชวัง ส่วนจิตรกรรมในวิหารพระอินทร์แปลง เขียนในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นกัน โดยเป็นภาพตำนานพระอินทร์แปลงและสถานที่สำคัญในวัดเสนาสนารามฯและสถานที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ สำหรับวิหารพระพุทธไสยาสน์ เขียนลายดอกไม้ร่วง

ขั้นตอนการอนุรักษ์ เริ่มจากสำรวจและจัดทำแผนงานโครงการ ลงพื้นที่ ถ่ายภาพนิ่งทุกช่องทุกภาพ จากนั้นบันทึกหลักฐานด้วยรูปสัญลักษณ์ ซึ่งแต่ละจุดมีความเสียหายต่างกัน ต้องตรวจสภาพทั้งหมด จากนั้นทำความสะอาด ผนึกชั้นสี ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งน้ำ และเคมีภัณฑ์ เสริมความมั่นคงชั้นปูน เก็บรายละเอียด เป็นต้น

จิตรกรรมโบราณโดยทั่วไปเขียนด้วยสีฝุ่นบนพื้นดินสอพอง โดยในการซ่อมตามหลักการอนุรักษ์ ไม่มีการเขียนเติมเกินกว่าของดั้งเดิม เราใช้สีน้ำ ยี่ห้อวินเซอร์ เกรด professional ซึ่งเป็นสากล” น.ส.กรอุมาระบุ

Advertisement

กรอุมา นุตะศรินทร์
กรอุมา นุตะศรินทร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image