‘การเดินทางของไออุ่น’ ที่ ‘บ้านสบเมย-ศูนย์เรียนรู้บ้านแสนสุข’

ยึดมั่นปรัชญาในการสร้างสรรค์ และพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง กลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ มุ่งมั่นสานต่อโครงการ “การเดินทางของไออุ่น” ซึ่งปีนี้ครบรอบปีที่ 10 ได้ร่วมกับอาสาสมัครจากภายในองค์กร ผู้มีจิตอาสาจากหน่วยงาน และเครือข่ายชมรม ตลอดจนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมเดินทางลงพื้นที่ช่วยเหลือเยาวชน และชุมชนห่างไกลถึง 2 ทริป ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และล่าสุด ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน บ้านแสนสุข อ.แม่จัน จ.เชียงราย พร้อมส่งมอบเครื่องกันหนาว และอุปกรณ์การศึกษาให้กับนักเรียน และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยหนาว

นายชยพล ศรศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารความรับผิดชอบต่อสังคม กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด และความเชื่อที่ว่า สังคมที่ดีต้องมาจากรากฐานที่ดี กลุ่มบริษัทสยามไวเนอรี่ จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ และพัฒนาสังคมด้วยโครงการ และงานอาสาสมัครมากมาย มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนชนบทในไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาได้เดินทางเข้าพื้นที่ในถิ่นทุรกันดาร และห่างไกลทั่วประเทศ เพื่อศึกษาหาข้อมูล จนรู้ถึงความจำเป็น และความต้องการของเยาวชนในโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ จึงทำให้เกิดโครงการการเดินทางของไออุ่น ขึ้น

“ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ได้มอบสิ่งของ และเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับปีนี้ นับเป็นโอกาสพิเศษที่โครงการครบรอบ 10 ปี จึงตั้งใจที่จะจัดกิจกรรม 2 ทริป เพื่อช่วยเหลือเยาวชนพื้นที่ห่างไกล ขณะเดียวกันก็ได้ช่วยเหลือครอบครัว และคนในชุมชนไปพร้อมๆ กัน โดยได้มอบเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์การศึกษา และกีฬา แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน ถือเป็นการตอกย้ำจุดยืนที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยหนาวอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ร่วมทำกิจกรรม และได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างใกล้ชิดด้วย” นายชยพล กล่าว

Advertisement

สำหรับ โรงเรียนบ้านสบเมย เป็นโรงเรียนที่อยู่ใน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อาศัยลุ่มน้ำสาละวินในการดำเนินชีวิต และหล่อเลี้ยงสมาชิกครอบครัวมาหลายชั่วอายุคน ด้วยดินดี อากาศดี น้ำดี จึงทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเพาะปลูกที่หลากหลาย มีความสมบูรณ์ทางด้านพืชพันธุ์ ผักต่างๆ มากมาย ส่วนการเรียนการสอนของโรงเรียนสบเมยนั้น มีตั้งแต่ระดับชั้นประถม ป.1-ป.6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 205 คน มีเด็กอยู่ประจำ 65 คน ครู 18 คน

ส่วน ศูนย์เด็กเล็กบ้านสบเมย มี 3 ศูนย์ย่อย 1.บ้านสบเมย จำนวน 30 คน 2.บ้านพะละอี จำนวน 20 คน 3.บ้านโกะงอคี จำนวน 22 คน และมีเด็กบางส่วนเป็นชนกลุ่มน้อย หรือกำพร้าเนื่องจากการสู้รบจำนวนหนึ่ง

ในขณะที่ ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ณ บ้านแสนสุข อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรม โดยมีอาสาสมัครจากกลุ่มบริษัทสยามไวเนอรี่ และกลุ่มเยาวชนบ้านแสนสุข อ.แม่จัน จ.เชียงราย ร่วมกันทำกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำกับชาวบ้าน ตลอดจนเยี่ยมชมโครงการพึ่งพาตนเองวิถีพอเพียง เยาวชนบ้านแสนสุข พร้อมแจกผ้าห่ม เสื้อกันหนาวให้กับชาวบ้านอีกด้วย

Advertisement

สำหรับบ้านพักแสนสุข ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2550 โดย นายธีรวัฒน พิทักษ์ไพรศรี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่คำที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ได้นำเด็กๆ ที่อยู่พื้นที่ห่างไกลมาอุปการะ เพื่อให้ได้รับการศึกษา โดยเด็กๆ ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โครงการ “ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” ถือเป็นการต่อยอดโครงการปศุสัตว์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท สยามไวเนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด ขยายโอกาสเพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพเด็ก และชุมชนที่ด้อยโอกาส เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในช่วงระหว่างมาพักอาศัยเรียนที่บ้านพักแสนสุข ให้นักเรียนที่กำลังศึกษาได้มีโอกาสได้เรียนรู้ได้ฝึกฝนการพึ่งพาตนเองอย่างถูกวิธี และขยายโอกาสสู่ผู้ปกครองเพื่อนำไปพัฒนา บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาความยากจน สามารถสร้างอาชีพเสริมให้กับครอบครัวของเยาวชน ให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน โดยเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆในการประกอบอาชีพ เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ป่า การอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ สืบสานแก่ลูกหลานต่อไป

โดยโครงการการเดินทางของไออุ่น มุ่งมั่นที่จะให้เยาวชนในพื้นที่ได้พัฒนาศักยภาพที่กำลังศึกษาให้มีความรู้ทักษะ และนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ พร้อมผลักดันให้ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้เป็นแหล่งอาหาร มีโภชนาการที่ดี สำหรับเด็กๆ ในบ้านพักที่นำมาอุปการะ ทั้งยังนำรายได้บางส่วนมาเป็นค่าใช้จ่ายแก่เด็กๆ ในบ้านพัก และเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้ปกครองฯ และชุมชน ที่ห่างไกลเข้ามาศึกษาเรียนรู้

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์แจกจ่ายพันธุ์ ปศุสัตว์ และพันธุ์พืช ศูนย์เรียนรู้และเผยแพร่วัฒนธรรมประจำเผ่า และเป็นศูนย์กลางเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เอื้อต่อการดำรงชีพ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ มีอาชีพมีรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึง การศึกษาของบุตรหลานสู่สังคมผู้ด้อยโอกาสต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image