อดีตคณบดีโบราณคดีชี้ สุสาน 3 พันปี ข้อมูลใหม่บ่งสัมพันธ์ 2 ฝั่งเจ้าพระยา ผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยาเผย ไม่ขัดแย้งผลศึกษาใหม่ปมชายฝั่งทะเล

อดีตคณบดีโบราณคดี ชี้ สุสานอ่างทอง 3 พันปี ข้อมูลใหม่บ่งชัดสัมพันธ์ 2 ฝั่งเจ้าพระยา ผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยา เผยสอดคล้องผลศึกษาใหม่ปมแนวชายฝั่งทะเล  กรมศิลป์เล็งขุดไร่อ้อย-ที่ทำการอบต. เชื่อสุสานกว้างกว่า 17 ไร่

สืบเนื่องกรณีการพบแหล่งฝังศพยุคหินใหม่อายุราว 3,000 ปีที่ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง โดยเป็นการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ครั้งแรกของจังหวัดอ่างทองซึ่งผู้เขี่ยวชาญระบุว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อวงวิชาการ โดยส่วนหนึ่งเกิดกระแสถกเถียงในประเด็นชายฝั่งทะเลโบราณ (อ่านข่าว พลิกปวศ.อ่างทอง! พบครั้งแรก ‘สุสานยุคหินใหม่ 3 พันปี’ คณาจารย์ผนึกกำลังลงพื้นที่)

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีดังกล่าวอยู่เหนือระดับน้ำทะเลโบราณ ไม่ขัดแย้งกับผลการศึกษาล่าสุดของตนซึ่งบ่งชี้ว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น คือ ระหว่าง 3,000-4,000 ปี แนวชายฝั่งทะเลอยู่ในบริเวณจังหวัดนนทบุรี ประเด็นที่น่าสนใจคือการตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากโดยปกติ แหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ถูกพบบริเวณถ้ำหรืออิงกับเพิงผา ไม่เคยพบในที่ราบเช่นนี้ จึงควรศึกษาต่อไปถึงภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการตั้นถิ่นฐานบนที่ราบของมนุษย์ในยุคหินใหม่ และสอบถามชาวบ้าน รวมถึงสำรวจเพิ่มเติมว่ามีแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆบริเวณใกล้เคียงที่มีลักษณะเดียวกันหรือไม่

“ ในช่วงราว 8,500 ปีที่แล้วการขึ้นสูงสุดของน้ำทะเลไปถึงอ่างทองและสุพรรณบุรี ต่อมา ราว 6,000 ปี แนวชายฝั่งอยู่แถวปทุมธานี อยุธยา กระทั่งช่วง 4,000 ปีลงมาถึงนนทบุรี การพบแหล่งฝังศพที่ตำบลสีบัวทองซึ่งอยู่ในยุคหินใหม่ คือไม่เกิน 4,000 ปี จึงไม่ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องพัฒนาการชายฝั่งทะเล แต่จะไปตอบโจทย์ทางโบราณคดีว่าบริเวณนั้นไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่า เพราะตามโครงสร้างธรณีวิทยาเป็นที่ราบสมัยไพลสโตซีนซึ่งพัฒนาตั้งแต่ก่อนน้ำทะเลขึ้นอยู่แล้ว กล่าวคือเป็นที่สูงอยู่แล้ว การพบแหล่งโบราณคดีตรงนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะน้ำทะเลไม่ได้ขึ้นมาถึงตรงนั้น แต่นัยยะสำคัญน่าสนใจคือเป็นแหล่งหินใหม่ที่ไม่ได้อยู่ตามถ้ำเหมือนที่เคยพบ แต่อยู่บนที่ราบ” นายตรงใจกล่าว

Advertisement
ดร.ตรงใจ หุตางกูร ภาพจาก http://channel.sac.or.th

รศ.สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย กล่าวว่า การพบแหล่งโบราณคดีคือข้อมูลใหม่ที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดอ่างทองมาก่อน เท่าที่พิจารณาจากภาพถ่าย พบว่าโบราณวัตถุบางอย่างมีรูปแบบเหมือนที่พบในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดลพบุรีและนครสวรรค์ นอกจากนี้ นักวิชาการหลายรายยังระบุว่ามีลักษณะเหมือนที่พบในแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย ดังนั้น แหล่งโบราณคดีที่ตำบลสีบัวทองที่พบใหม่นี้ อาจเป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

รศ.สุรพล นาถะพินธุ ิอดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์

“เป็นข้อมูลใหม่ที่สำคัญมากๆ ซึ่งชี้ความเป็นไปได้ว่าพื้นที่ส่วนนี้ของภาพกลาง น่าจะยังมีชุมชนโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่อีก ย่านอ่างทอง เราไม่เคยมีข้อมูลด้านก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน  โบราณวัตถุบางอย่างเหมือนที่พบในลพบุรี นครวรรค์ ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมในพื้นที่แถบนี้ส่วนหนึ่งกับชุมชนสมัยเดียวกันที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และจากที่อ่านข่าวมีนักวิชาการหลายคนบอกว่าโบราณวัตถุหลายอย่างเหมือนที่พบในแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งอยู่ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้น นี่อาจเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้หลักฐานชัดเจนมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีมาแล้วด้วย” รศ.สุรพลกล่าว

นายจารึก วิไลแก้ว ผอ. สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่พบฝ่ายปกครองท้องถิ่นและนายสมเกียรติ  บริบูรณ์ เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นแหล่งโบราณดีแล้วในช่วงบ่ายวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เบื้องต้นได้ข้อมูลว่า มีการพบโบราณวัตถุต่างๆตั้งแต่ 3 เดือนก่อน หน้าดินถูกตักไปขาย ดังนั้น จุดที่เหมาะสมในการดำเนินงานทางโบราณคดีมากกว่าที่ดินของนายสมเกียรติ คือพื้นที่ 2 ข้างซึ่งขนาบที่ดินดังกล่าว ได้แก่ ไร่อ้อยและที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสีบัวทอง เนื่องจากมีลักษณะเป็นเนินดินที่ถูกรบกวนน้อยกว่า โดยตนได้หารือกับทาง อบต. แล้ว การขุดค้นคงไม่มีปัญหา สำหรับไร่อ้อยเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนรายอื่น แต่คาดว่าน่าจะขออนุญาตได้อย่างราบรื่น เนื่องจากใช้พื้นที่เพียง 3 คูณ 3 เมตร เท่านั้น

Advertisement
จารึก วิไลแก้ว (คนกลาง) ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่พูดคุยกับนายสมเกียรติ บริบูรณ์ (ที่ 2 จากขวา) เจ้าของที่ดิน 17 ไร่ 2 แปลง ซึ่งพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ร่วมด้วยฝ่ายปกครองท้องถิ่น เพื่อหารือการดำเนินงานทางโบราณคดี

“ที่ดินของนายสมเกียรติซึ่งพบโบราณวัตถุถูกตักหน้าดินไปขายและกลายเป็นที่ดินสำหรับเตรียมทำนาไปแล้วทั้ง 17 ไร่ 2 งาน ดังนั้นบริเวณที่สามารถขุดค้นได้ คือ ที่ทำการ อบต. สีบัวทองและไร่อ้อย ซึ่งขนาบที่ดินของนายสมเกียรติ เชื่อว่าจะพบหลักฐานทางโบราณคดีทั่วทั้งบริเวณซึ่งอยู่ริมคลองสีบัวทองที่จะไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่ดินของนายสมเกียรติอาจใช้วิธีขุดตรวจสอบชั้นดินแทน” นายจารึกกล่าว และว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ตนจะลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง และรองผู้ว่าฯ รวมถึงชาวบ้านในการดำเนินการทางโบราณคดี โดยยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการทำนา อย่างแน่นอน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง อธิบดีกรมศิลป์ รอผลสำรวจแหล่งฝังศพอ่างทอง 3 พันปี ชี้เป็นการค้นพบครั้งสำคัญ ปลื้มท้องถิ่นเห็นคุณค่า

ผอ.ศิลปากรสั่งทำผัง ‘สุสาน 3 พันปี’ เตรียมขุดค้น ยันไม่กระทบชาวบ้านทำนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image